เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - มหาวิทยาลัยฮ่องกง สถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งของเกาะฮ่องกง ทำการสำรวจชาวฮ่องกงกว่าพันคน พบว่าความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกลุ่มผู้นำจีน เริ่มถดถอยลงกว่าครึ่ง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือน เร่งเรียกคืนความเชื่อมั่นก่อนเกิดวิกฤตซ้ำเหมือน ปี พ.ศ.2546
รายงานข่าวกล่าวว่า โครงการสำรวจความคิดเห็นสาธารณชนของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวฮ่องกงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและรัฐบาลกลางในจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 1,000 กว่าคน ในวันที่ 10 และ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา
จากผลการสำรวจ พบว่า ความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 ขณะที่หนึ่งในสี่ของชาวฮ่องกงเท่านั้นที่ยังศรัทธารัฐบาลกลางอยู่ ส่วนความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลฮ่องกงที่เคยอยู่ระดับร้อยละ 26 จากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 37 และมีเพียงร้อยละ 32 ที่เชื่อมั่นการบริหารงานของรัฐบาลฮ่องกงชุดปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเทียบเคียงได้กับผลสำรวจเมื่อ ปี พ.ศ.2546 ที่ชาวฮ่องกงหมดศรัทธาในกลุ่มผู้นำจนเกิดการเดินประท้วงตามท้องถนนมากกว่า 500,000 คน
ทั้งนี้ เหตุการณ์เดินประท้วงของชาวฮ่องกงกว่า 500,000 คน เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2546 มีสาเหตุจากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลฮ่องกงในขณะนั้น ที่ล้มเหลวในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจจนทำให้ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกงตกต่ำลง
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือน รีบกำจัด “ความกังวลใจ” ก่อนสายเกิน
นายจง ถิงเย่า เจ้าหน้าที่ประจำโครงการสำรวจฯ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกหลังจากอังกฤษส่งมอบฮ่องกงสู่การปกครองจีน ที่ชาวฮ่องกงเกือบครึ่งไม่มีความเชื่อมั่นต่อนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของรัฐบาลจีน กลายเป็นสถานการณ์แห่ง “ความกังวลใจ” ขึ้นในหมู่ประชาชน
ดร.หลี่ เผิงก่วง ผู้อำนวยการโครงการกำกับดูแลกิจการสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยหลิ่งหนัน (Lingnan University) ระบุว่า สัญญาณของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ภายใต้การบริหารงานของนายเหลียง เจิ้นอิ่ง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เริ่มก่อตัวให้เห็นชัดเจนขึ้นแล้ว
“การที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และเฝ้าสงสัยการบริหารงานของผู้นำ จะทำให้รัฐบาลเกิดความไร้เสถียรภาพ” ดร.หลี่ กล่าว
“มันเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบเรียกคืนความเชื่อมั่น มิฉะนั้นรัฐบาลฮ่องกงอาจจมลึกสู่วิกฤตอีกครั้ง”
ทว่า ดร.หลี่ คาดการณ์ว่า การชุมนุมในวันครบรอบ 16 ปี ของการส่งมอบฮ่องกงสู่การปกครองจีนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ คงไม่ใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้ง ปี พ.ศ.2546
นอกจากนี้ นายหม่า เย่ว์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) กล่าวเสริมว่า เรื่องอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังเช่นกรณีการรับสินบนของอดีตผู้ว่าการฮ่องกงคนก่อน ก็เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน