เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - รัฐบาลจีนออกอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด เมื่อประชาชนของตนแห่กันไปสมัครในโครงการมาร์สวัน (Mars On) ขององค์กรไม่แสวงหากำไรรายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์
โครงการหาอาสาสมัครไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารนี้ ในตอนแรกไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก แต่ไป ๆ มา ๆ จำนวนผู้ยื่นใบสมัครบนแดนมังกรก็พุ่งกระฉูดกว่า 1 หมื่นคนในชั่วเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งสูงสุดรองจากสหรัฐฯ
ดังนั้น ตั้งแต่วันอาทิตย์ ( 19 พ.ค.) เป็นต้นมา สำนักข่าวของทางการจีน ตั้งแต่สำนักข่าวซินหวา สถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือซีซีทีวี และสำนักข่าวใหญ่อื่น ๆ จึงพากันเสนอข่าวในเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของโครงการมาร์สวันอย่างไม่ขาดสาย เช่นกล่าวหาว่า เป็นแผนลวงโลกเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเจ้าของโครงการจะไม่สามารถส่งคนไปดาวอังคารได้ตามที่โฆษณาอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ยังมีการแสดงความเห็นในเชิงลบต่อโครงการนี้ของผู้เข้าไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมายด้วยเช่นกัน
กระแสต่อต้านเหล่านี้ทำให้หม่า เฉียง อดีตตำรวจ วัย 39 ปี จากเมืองตูเจียงเยี่ยน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) รู้สึกโกรธ
เขายื่นใบสมัครกับโครงการเมื่อเดือนที่แล้ว และได้เป็นคนหนึ่งในอาสาสมัครกลุ่มแรก ที่ได้รับการคัดกรองสำหรับการเดินทางชนิดตีตั๋วไปอย่างเดียว ไม่มีตั๋วกลับ ซึ่งกำหนดออกเดินทางในอีก 10 ปีข้างหน้า
เขาไม่พอใจอย่างมากที่สื่อมวลชนบนแผ่นดินใหญ่พากันเรียกความฝันเดินทางไปดาวอังคารของเขาว่าเป็นเรื่องหลอกลวง
“ เรามีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไร้ความฝัน” หม่ากล่าว
“ประชาชนของเราควรได้รับอนุญาตให้มีความฝันในบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหมือนจะทำไม่ได้ในวันนี้ แต่อาจเป็นไปได้ด้วยความพยายามในวันพรุ่งนี้ ไม่ควรทำให้หมดกำลังใจ และหวาดกลัว” เขาให้เหตุผล
หม่าเล่าต่อไปว่า เขาเคยใช้ชีวิตเหมือนผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองจีน ที่มัวแต่ห่วงเรื่องการหางานทำ หาบ้าน และหาเงิน จนกระทั่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลซื่อชวนเมื่อเดือนพ.ค. 2551 การมองชีวิตและความตายในทัศนะของหม่าก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
หม่าเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง เคยผ่านการฝึกและการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่นการกู้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และยุโรปมาแล้วในช่วง 8 ปี ที่เป็นตำรวจ
เขากลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ธรณีพิโรธเมื่อ 5 ปีก่อน
“ ชีวิตคนเรามันสั้น และเปราะบาง” เขากล่าว
“ไม่มีใครมีชีวิตชั่วนิรันดร์ แต่ทุกคนสามารถทำชีวิตให้มีความหมายมากขึ้นด้วยการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน”
หม่าบอกว่า ตอนนี้เขาอายุเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าโครงการมาร์สวันดำเนินไปตามกำหนด เขาก็อาจได้ออกเดินทางจากโลก มุ่งสู่ดาวสีแดงดวงนั้น เมื่อมีอายุกว่า 50 ปีก็เป็นได้
“ผมแน่ใจว่า ผมจะไม่เป็นชายแก่ที่แข็งแรงเพียงคนเดียว ที่อยากตายบนดาวอังคารแน่ ๆ ”
ด้านอาชิม่า โดกรา (Aashima Dogra) ซึ่งเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของโครงการมาร์สวันออกมาปฏิเสธว่า นี่ไม่ใช่โครงการเล่นตลกตบตาอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่มีกำลังมีการทำงานกันอย่างเต็มที่โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอวกาศที่ดีที่สุดในโลกหลายแห่ง ขณะที่มีผู้สนใจยื่นใบสมัครหลายหมื่นคนทั่วโลก
ขณะที่ศาตราจารย์เจอราร์ด’ ที ฮูฟต์ ( Gerard’ t Hooft) นักฟิสิกส์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2542 ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารนิวซายเอนทิสต์ (New Scientist) เมื่อเดือนเม.ย. ว่า ในตอนแรกเขาก็สงสัยเกี่ยวกับโครงการนี้เช่นกัน แต่เมื่อได้ทราบมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่โครงการกำลังวิจัย ก็เริ่มเชื่อว่า การเดินทางไปดาวอังคารของมนุษย์อาจเกิดขึ้นได้จริงภายใน10ปีข้างหน้า
การแห่ไปสมัครเดินทางไปดาวอังคารของชาวจีนนี้อาจถือเป็นการประท้วงต่อความเสื่อมโทรมด้านสภาพแวดล้อมบนแผ่นดินใหญ่ได้อีกทางหนึ่งตามความเห็นของไชน่า บิสซิเนส เจอร์นัล (China Business Journal)
“ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไปสมัคร เพื่อการผจญภัย แต่ชาวจีนส่วนใหญ่ไปสมัคร เพื่อหลบหนี” บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุ
“สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายสาหัสกำลังทำให้เราสิ้นหวัง”