xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซ หนุนโครงการโซลาร์ทุกหลังคาบ้าน เหลือใช้ขายคืนรัฐได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซ เอเชียตะวันออก สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าตามบ้านจีน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาสำนักงานของตนในเมืองซุ่นยี่ ชานกรุงปักกิ่ง สืบเนื่องจากนโยบายผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของจีน ที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใหม่นี้ หากเหลือใช้ยังสามารถขายพลังงานที่ผลิตเกินให้รัฐได้ด้วย (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - กรีนพีซ เอเชียตะวันออก สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าตามบ้านจีน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป ที่หากเหลือใช้ยังสามารถขายพลังงานที่ผลิตเกินให้รัฐได้ด้วย

สื่อจีนรายงาน (3 เม.ย.) อ้างคำแถลงของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ว่าสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าตามบ้านจีน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาสำนักงานของตนในเมืองซุ่นยี่ ชานกรุงปักกิ่ง สืบเนื่องจากนโยบายผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของจีน ที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใหม่นี้ หากเหลือใช้ยังสามารถขายพลังงานที่ผลิตเกินให้รัฐได้ด้วย

กรีนพีซ ระบุว่า ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา เป็นพื้นที่ 65 ตารางเมตร ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และเมื่อสิ้นสุดวันที่อากาศแจ่มใส จะสามารถสะสมพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 25 กิโลวัตต์ ขณะที่โดยเฉลี่ยแล้วบ้านเรือนทั่วไปจะใช้ไฟฟ้าปริมาณราว 10 กิโลวัตต์ต่อวัน

รายงานข่าวระบุว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของแผงพลังงานเหล่านี้ สามารถเลือกที่จะใช้เองหรือแบ่งส่วนที่เกินจากการใช้ประจำวัน มาจำหน่ายให้รัฐได้ อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับราคาต่อหน่วยของค่าไฟฟ้านั้นยังอยู่ระหว่าง การปรับแก้ไขเพื่อให้สมดุลกับกลไกราคา โดยคาดว่า ราคาต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ อาจจะยังเท่ากับค่าไฟจากถ่านหิน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานราคาที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ ขายให้รัฐฯ ที่ราคา 1 หยวน / กิโลวัตต์ ดังนั้น ความหวังในตอนนี้จึงเป็นเรื่องการปรับราคาจำหน่ายให้ได้ระดับเดียวกับ ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่เหล่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นมาประเทศที่มีมูลค่าการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ อันดับหนึ่งของโลกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานใหม่อย่างจริงจัง ด้วยการระบุในแผนพัฒนาแหล่งพลังงานและพัฒนาพลังงานทางเลือก มาตั้งแต่แผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549-2553) นอกจากนี้ จีนยังพร้อมให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ปัญหาพลังงาน แม้ต้องเผชิญปัญหาการกีดกันการค้า หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด ด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าโซล่าร์เซลล์จากจีน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทผู้ผลิตโซล่าร์เซลล์รายใหญ่ระดับโลกของจีนถึง 6 แห่ง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาประเทศแห่งชาติจีน(NDRC) ยังเดินหน้าอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตแผงเซลล์พลังงานเเสงอาทิตย์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะวันตกของประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น