เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สภาพอากาศมลพิษบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุกหรือจูเจียงอยู่ในระดับอันตรายกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งเสียอีก มีการตรวจพบอากาศที่ปนเปื้อนสารพิษไนโตรเจนระดับสูงแบบอันตราย
นายอู๋ ตุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นควันอันตราย และนักวิจัยประจำสำนักวิชาการอุตุนิยมวิทยาแห่งจีนเผย (20 ก.พ.) อนุภาคขนาดเล็กอันตรายหรือที่เรียกว่า PM2.5 ในแถบสามเหลี่ยมแม่ต่าง ๆ มีการปนเปื้อนสารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจน ทั้งในแถบภาคกลางและตะวันออกของจีน รวมไปถึงสามเหลี่ยมลุ่มน้ำแยงซีด้วย
สารระเหยอินทรีย์เหล่านี้ออกมาจากโรงงานผลิตสินค้าจำพวก รองเท้า และเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสารอันตรายประกอบอยู่ในหมอกปนควันพิษแบบโฟโต้เคมี (photochemical smog)
อู๋ชี้ชัดว่าปัญหาเหล่านี้มีการสะสมเรื้อรังมานานนับทศวรรษ ทว่าเพิ่งจะมาเป็นที่สนใจกันขณะนี้
ข้อสังเกตของอู๋ประจวบกับข้อสรุปของอังกฤษที่ชี้ว่า การปล่อยสารพิษขนาดเล็กในอากาศมหาศาล ที่ปกคลุมไปทั่วในเอเชีย โดยเฉพาะปักกิ่งและฮ่องกงนั้น ส่งผลให้อัตราการตายจากโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยทางการแพทย์แห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine เผยว่า สารพิษ PM2.5 และอัตราการตายของประชาชนในอังกฤษและเวลส์ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันที่มีจำนวนมากถึง 154,000 คน ระหว่างปี 2547-2550
อณุภาค PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของคนถึง 30 เท่า หากว่าเจ้ามลพิษนี้เข้าไปฝังอยู่ในปอดของคนก็จะบันดาลสารพัดโรคตามมา ค่าเฉลี่ยวัดได้ที่ฮ่องกงอยู่ที่ 30-35 ไมโครกรัมต่อมวลอากาศหนึ่งคิวบิกเมตร องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่า ระดับสูงสุดคิดแบบเฉลี่ยรายปี อณุภาคอันตรายควรมีอยู่ที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตรเท่านั้น
คาธรีน ทอนน์ นักวิจัยฯอังกฤษ เผยว่า ทุกครั้งที่พบว่ามีมวลอากาศพิษ PM2.5 ในระดับ 10 ไมโคกรัมต่อหนึ่งคิวบิกเมตร ก็จะพบว่าสอดคล้องกับอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์
พวกเขาทำงานติดตามวิจัยผู้ป่วยมากว่าสามปี หลังจากที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มีจำนวนเกือบ 40,000 ราย เสียชีวิตในช่วงเวลานั้น เมื่อระดับสารพิษ PM2.5 ลดลงตามธรรมชาติ ก็จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงอยู่ที่จำนวน 4,873 ราย คิดเป็นร้อยละ 12
เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาในกรุงปักกิ่ง ในการวัดค่าดัชนี PM2.5 ครั้งหนึ่ง แตะระดับสูงสุดถึง 993 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร ปกคลุมปักกิ่งนานกว่าหนึ่งวัน ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว เนื่องจากค่าดัชนีมลพิษนี้ สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกขีดเส้นอันตรายไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร ถึง 40 เท่า
แอนโทนี เฮดลีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งประชาคมการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เผยว่า ควันพิษได้ส่งผลต่อโรคหัวใจมายาวนานแล้ว แต่ว่าการวิจัยใหม่ทำให้ทราบตัวเลขที่ใกล้ความจริงมากขึ้นเท่านั้น