xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งจีน-พม่าเรื่องเหมืองทองแดงจะเป็นอย่างไรต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเยนซี- เหมืองทองแดง Latpadantaung ซึ่งลงทุนไปถึงกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต้องระงับการดำเนินงาน 2 เดือน จากการประท้วงของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยาวนานต่อเนื่องกว่าครึ่งปีแล้ว ความเสียหาย 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนเช่นนี้ สร้างความกังวลต่อนักลงทุนชาวต่างชาติที่สนใจธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังจับตาว่ารัฐบาลพม่าจะจัดการเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้อย่างไร
เอกอัครราชทูตจีนในพม่า หลี่ จุนฮวา (李军华) เข้าร่วมพิธีเปิดเหมืองทองแดง Latpadantaung เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 55 (ภาพ เวบไซต์สถานฑูตจีนในพม่า)
เหมืองทองแดง Latpadantaung ณ เมืองโมนีวา (Monywa) แห่งภาคสะกาย (Sagaing) ของพม่า ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทวั่นเป่า (万宝公司) ของประเทศจีน กับบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิ้ง (Myanmar Economics Holding) ที่มีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของนี้ เป็นสาเหตุความขัดแย้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ประชาชนได้ออกมาประท้วงต่อต้านการสร้างเหมืองครั้งแรกนับแต่เดือนมิถุนายน 2555 โดยรัฐบาลได้ออกมาโต้แย้งว่า การสร้างเหมืองครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเรื่องการค้าและการลงทุน กระทั่งเกิดการจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงทั้ง 8 คน ด้วยข้อหาทำลายชื่อเสียงของรัฐบาลจากการรวมตัวกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 55 และนำมาซึ่งการควบคุมตัวผู้ชุมนุมในวันที่ 2 ธ.ค. จากการประท้วงต่อเนื่องเพื่อประณามการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ คณะสืบสวนเหคุการณ์ประท้วงโดยมีนางอองซานซูจีเป็นแกนนำจะเสนอบทสรุปต่อข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการใช้ทรัพยากร ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม ในวันที่ 23 ม.ค. 56
กลุ่มผู้ประท้วงได้เคลื่อนขบวนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 55 (ภาพ The Irawaddy)
นางอองซาน ซูจีเข้าเยี่ยมกลุ่มพระผู้ร่วมประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 55 และเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลโมนีวา (ภาพ The Nation)
กลุ่มผู้ประท้วงร่วมกันแห่ต้อนรับนางอองซาน ซูจี ที่เข้ามาไกล่เกลี่ยประนีประนอมกับตำรวจและกลุ่มประท้วงภายหลังการปราบจราจล เมื่อวันที่ 30 พ..ย 55 (ภาพ Global Post)
ต่อกรณีประท้วงดังกล่าว เกิ่ง อี (耿一) ผู้จัดการบริษัทวั่นเป่าสาขาพม่ากล่าวกับผู้สื่ข่าวเหรินหมิงรื่อเป้า (人民日报) ว่า เริ่มแรกมีสาเหตุจากคนงานกลุ่มหนึ่งไม่พอใจในค่าตอบแทน แต่ภายหลังจากที่พลังการเมืองจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม ประเด็นก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เป้าหมายของกลุ่มผู้ประท้วงได้ลามไปถึงการถอดถอนอำนาจทหารที่หนุนหลังบริษัท กระทั่งไล่คนจีนออกนอกประเทศ “เราหวังจะได้รับความยุติธรรม เรื่องทั้งหมดควรจะยึดตามสัญญาที่จีน-พม่าได้ทำร่วมกันแต่แรก หากบริษัทจีนปฏิบัติตามสัญญา แต่รัฐบาลพม่าละเลยต่อเนื้อหาดังกล่าว ผลที่จะตามมาคือ ความเสียหายทางสภาพแวดล้อมการลงทุน รวมถึงนักลงทุนตะวันตกก็ยังหวาดผวากับปรากฏการณ์นี้ และรถจักรที่จอดทิ้งแช่อยู่อย่างนี้หลายสิบคันนี้ คือสัญลักษณ์ของความเสียหาย 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ”
รถจักรจำนวนหลายสิบคันถูกปล่อยทิ้งให้ว่างงานมาแล้วกว่า 2 เดือน (ภาพ 人民日报)
จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวเหรินหมิงรื่อเป้าพบว่าเหมืองทองแดง Latpadantaung ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวมรกต การสร้างเหมืองแห่งนี้ต้องอพยพผู้คนจำนวน 4 หมู่บ้าน 442 หลังคาเรือน ปัจจุบันถูกไล่ที่ไปแล้ว 229 หลังคาเรือน เฉิ่นซินฮวา (沈新华) กล่าวกับผู้สื่อข่าว “Latpadantaung ก็เหมือนเหมืองข้างๆ ทั้งสอง ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีถลุงแบบเปียกที่นานาชาติยอมรับว่ารักษาสภาพแวดล้อมได้มากที่สุด สามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ สร้างมลพิษทางอากาศน้อยกว่าการถลุงด้วยไฟมาก ทั้งยังเตรียมเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เมื่อครั้งที่เริ่มโปรเจค ค่าตอบแทนเวนคืนที่ดินก็เป็นไปตามการวินิจฉัยของรัฐบาล ซึ่งมีอัตรามากกว่าการเวนคืนที่ดินทั่วไปในพม่าเสียอีก เบ็ดเสร็จแล้วราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายค่าชดเชยให้กับการย้ายวัดและสร้างชุมชนใหม่อีก 60 ล้านเหรียญสหรัฐ และรับสมาชิกในครัวเรือนที่ถูกไล่ที่มาทำงานในเหมืองหลังละ 1 คนอีกด้วย เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุนชนอย่างมาก”
บริเวณโดยรอบเหมืองทองแดง Latpadantaung ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวมรกต (ภาพ 环球网)
คนงานชาวพม่ารายหนึ่งยืนยัน “การทำงานของบริษัทระมัดระวังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาก เราทำงานที่นี่มา 10 ปี ไม่เคยได้ยินใครลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม” และอีกรายหนึ่งกล่าวว่า “พวกที่มาประท้วงเป็นคนนอกเมืองโมนีวา พวกเขาไม่รู้เรื่องภายในเหมืองที่แท้จริงหรอก นับแต่การประท้วงเมื่อเดือนพ.ย. 55 ที่ผ่านมา ผมก็รู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องปากท้องของตัวเอง แต่การหยุดงานของเหมือง เกี่ยวพันกับชีวิตของคนงานจำนวนมาก งานที่นี่มั่นคง ค่าตอบแทนก็ไม่เลว ผมหวังว่าเหมืองจะสามารถดำเนินงานได้ต่อไป และหวังว่านางอองซาน ซูจี จะสามารถได้บทสรุปที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
กำลังโหลดความคิดเห็น