ปัตตานี - องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยื่นข้อเสนอให้พม่าต้องคุ้มครองพลเรือนที่ได้รับอันตรายจากความขัดแย้ง และสอบสวนการโจมตีที่เกิดขึ้นในรัฐกะฉิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International : AI) องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์กรณีเหตุความขัดแย้งในรัฐกะฉิ่น เขตปกครองของประเทศพม่า ลงวันที่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการเท่าที่ทำได้ทุกประการ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนในรัฐกะฉิ่นบาดเจ็บ ล้มตาย ภายหลังหลังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งมีรายงานข่าวระบุว่า เป็นปฏิบัติการของฐานทัพพม่าในภูมิภาคดังกล่าว
แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุด้วยว่า กองทัพอิสรภาพกะฉิ่น (Kachin Independence Army : KIA) ก็ต้องประกันว่าจะไม่กำหนดเป้าหมายโจมตีทางทหารใกล้กับบริเวณที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ และต้องเคารพอย่างเต็มที่ต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีพลเรือน 3 คน ซึ่งประกอบด้วย วัยรุ่นหนึ่งคนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นปฏิบัติการของกองทัพพม่าที่ประจำอยู่ที่เมืองหล่ายจ่า (Laiza) รัฐกะฉิ่น และยังเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน เป็นเด็ก 2 คน และเป็นผู้หญิง 2 คน หล่ายจ่าเป็นเมืองติดพรมแดนจีน และเคยเป็นศูนย์บัญชาการอย่างไม่เป็นทางการของกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น
“ทั้งกองทัพพม่า และกองทัพอิสรภาพกะฉิ่นต้องประกันว่า พลเรือนในพื้นที่ขัดแย้งจะได้รับการคุ้มครอง การเสียชีวิตอย่างน่าเสียใจที่เมืองหล่ายจ่าทำให้เกิดข้อกังวลอย่างจริงจังว่า ชีวิตของพลเรือนตกอยู่ใต้ความเสี่ยง หากมีการยิงใส่กันโดยไม่เลือกเป้าหมาย” แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียกร้องไว้ในตอนหนึ่ง
ด้านนายอิสเบล อาราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เราเรียกร้องต่อทางการพม่าให้สอบสวนเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยทันที และให้พิจารณาว่ามีการละเมิดกฎหมายสงครามระหว่างประเทศหรือไม่
สำหรับความขัดแย้งรอบปัจจุบันระหว่างกองทัพพม่า กับกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น เริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2554 หลังจากมีการฉีกสัญญาหยุดยิงที่ใช้มาเป็นเวลา 17 ปีทิ้งไป และมีการสู้รบอย่างรุนแรง เริ่มจากเดือน พ.ย.2555 เป็นต้นมา กองทัพอิสรภาพกะฉิ่นเป็นทหารขององค์กรอิสรภาพกะฉิ่น (Kachin Independence Organisation : KIO) พวกเขาเรียกร้องให้รัฐกะฉิ่นมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น และเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สำคัญกลุ่มเดียวในพม่าที่ยังไม่สามารถตกลงสัญญาหยุดยิงกับทางการพม่าได้
จึงทำให้ในเดือน ธ.ค.2555 ทางกองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการทางทหารรอบใหม่ในรัฐกะฉิ่น มีการนำเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินทหารเข้าไปบินต่ำเหนือบริเวณค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) และตามเมืองต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.2556 เป็นต้นมา ทำให้พลเรือนเกิดความหวาดกลัวอย่างมาก รวมทั้งคนที่อยู่ในค่าย และเด็ก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พลเรือนชาวกะฉิ่นให้ข้อมูลว่า ทหารพม่าได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใกล้กับเมือง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และทิศเหนือของพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพกะฉิ่นในกลางเดือน ธ.ค.2555 และโจมตีทางอากาศใกล้กับเมืองหล่ายจ่าเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2555 ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้มีคนต้องอพยพโยกย้ายกว่า 75,000 คน และต้องไปอาศัยอยู่ตามค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ
มีรายงานข่าวว่า ตลอดทั้งปี 2555 ทางการพม่าจำกัดการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น เป็นเหตุให้ประชาชนขาดแคลนอาหาร และมีปัญหาด้านสุขอนามัย
“สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ขัดขวางกลุ่มและบุคคลต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบาก เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพในตอนนี้มีความเสี่ยงจะกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค” นายอาราดอนกล่าว
ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับรายงานที่เชื่อถือได้เมื่อปี 2555 ว่า กองทัพพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเรือนชาวกะฉิ่นหลายครั้ง ทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การทรมาน และการปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่นๆ การควบคุมตัวโดยพลการ การบังคับใช้แรงงาน และความรุนแรงทางเพศ