xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองฮ่องกง เตรียมรุกนโยบายตลาด ป้องผลป.ย.ท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหลียง เจิ้นอิ่ง ขณะแถลงนโยบายทิศทางการพัฒนาฮ่องกง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุถึงทิศทางการพัฒนาฮ่องกงใน 5 ปีข้างหน้า (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - นายเหลียง เจิ้นอิง ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แถลงนโยบาย เชิงรุกอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง เตรียมถอดการส่งเสริมธุรกิจตลาดการศึกษา และการแพทย์ หลังตลาดล้น ด้านผู้เชี่ยวชาญ ยังเห็นขัดแย้ง

สื่อจีนรายงาน (16 ม.ค.) คำแถลงนโยบายพัฒนาฮ่องกงของนายเหลียง เจิ้นอิง ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ประกาศว่าจะผลักดันบูรณาการทางเศรษฐกิจมากขึ้นกับแผ่นดินใหญ่ และเปิดเผยว่าคณะกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล จะทบทวนศึกษาว่าควรถอดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดการแพทย์ ออกจากนโยบายพัฒนาต 6 ภาคส่วนหลักของฮ่องกง ซึ่งเป็นนโยบายเดิมของนายโดนัลด์ ซัง ผู้ว่าคนก่อนหรือไม่

นายเหลียงกล่าวว่า "เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายรุกอย่างเหมาะสม อาทิ ในกรณีหากเกิดความล้มเหลวด้านการตลาด รัฐบาลต้องเข้าไปดำเนินการตามความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหา"

เหลียง กล่าวว่า ใน 6 เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารได้ทำหน้าที่ "ในลักษณะเชิงรุก" ตามนโยบายของ "ทรัพยากรฮ่องกงเพื่อคนฮ่องกง" เพื่อจัดให้ความสำคัญกับความต้องการของท้องถิ่นมากกว่าผู้คนต่างถิ่น

แหล่งข่าวในรัฐบาลอธิบายว่า การบริหารจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในตลาด และเสริมว่าวิธีการนี้ ไม่ควรส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย

เหลียงบอกว่า คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งจะเริ่มจัดตั้งนี้ จะทบทวนว่าควรรวมภาคการศึกษาและการแพทย์ เข้ามาในอยู่กลุ่มภาคส่วนเดียวกันกับที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมไปก่อนหน้าด้วยอีกหรือไม่

"ภาคการแพทย์ของเรา กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และประชาชนยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันในด้านการบริการการศึกษา ว่าควรจะถือว่าเป็นภาคส่วนหลักหรือไม่ ขณะที่ความจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการในประเทศ ยังไม่สมดุลย์กับความจำเป็นในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของทั้งสองภาคส่วน" เหลียง กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายพัฒนา 6 ภาคส่วนหลักของฮ่องกง โดยนายโดนัลด์ ซัง เมื่อปีพ.ศ. 2552-53 ได้แก่ ภาคการศึกษา ภาคการแพทย์ ภาคสิ่งแวดล้อม ภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาควัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ รวมทั้งภาคบริการตรวจสอบควบคุม และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เหลียงยังเสนอการตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าในอู่ฮั่น นอกเหนือไปจากที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในกรุงปักกิ่ง กว่างตง เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า รัฐบาลกำลังสำรวจความเป็นไปได้ของสำนักงานประสานงานในเมืองอื่น ๆ

ผู้ว่าฯ ฮ่องกง ยังประกาศว่า เขากับกระทรวงพาณิชย์ จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงาน Closer Economic Partnership Arrangement (Cepa) โดยการตั้งกลุ่มงานขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งใกล้ชิดกับหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ด้านฮ่องกงจะนำโดยกรมการค้าและอุตสาหกรรม

ด้านเอ็ดเวิร์ด โชวกว่องไฟ รองประธานธุรกิจและสภาวิชาชีพของฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลควรแทรกแซงในตลาด เมื่อมีความจำเป็น

"แต่ละรัฐบาล ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น ถ้านายทุนต่างประเทศใดที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการหรือลงในท้องถิ่น แต่มีผลกระทบต่อผู้คนในท้องถิ่น รัฐบาลควรที่จะแทรกแซงเข้ามาปกป้องได้" เอ็ดเวิร์ด กล่าว และเสริมว่า แนวคิดการดำเนินงานของกลุ่ม Cepa เป็นสิ่งดี แต่ต้องรอดูผลการทำงานด้วย ขณะที่การถอดภาคส่วนการศึกษาและการแพทย์ออกจากกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบายพัฒนานั้น เขาเห็นด้วย เพราะเวลานี้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เข้ามาใช้ทรัพยากรการศึกษาของท้องถิ่นไปมากมาย จนไม่จำเป็นต้องกระตุ้นส่งเสริมความต้องการตลาดจากต่างถิ่นอีกแล้ว

ขณะที่ ซูซาน ฉิ่วย์ ประธานสถาบันการรับรองนักบัญชีสาธารณะ เห็นด้วยกับรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย "เชิงรุกอย่างเหมาะสม" ในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเลิกส่งเสริมอุตสาหกรรมการศึกษา โดยบอกว่า รัฐบาลควรดึงดูดการลงทุนและให้สถาบันที่มีชื่อเสียงของต่างชาติเข้ามาเปิดในฮ่องกง

สื่อฮ่องกง ยังได้รายงานสะท้อนความเห็นของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับ นโยบาย 6 พัฒนา ของฮ่องกง อาทิ นายเอดเวิร์ด โซ วัย 50 อาชีพรับจ้าง กล่าวว่า การสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยสร้างงานให้กับคนฮ่องกง และยังทำให้เศรษฐกิจมีความหลากหลาย ส่วนนายปีเตอร์ ไหล่ อาชีพรับจ้าง กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการศึกษาของเด็กๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น