xs
xsm
sm
md
lg

มังกรต้อนรับปีมะเส็งด้วยกฎจราจรสุดโหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเยนซี- กฎจราจรที่โหดที่สุดในประวัติศาสตร์แดนมังกร ระบุข้อบังคับผู้ขับยานยนต์ฉบับปรับแก้ใหม่ ได้ถูกบังคับใช้แล้วในนับแต่เที่ยงคืนวานนี้ (1 ม.ค. 2556) ใจความสำคัญคือ การเพิ่มบทลงโทษกับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรในหลายกรณี อาทิเช่น การฝ่าไฟเหลือง การไม่หยุดรถให้คนสัญจรข้ามทางม้าลาย การบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด การใช้ความเร็วเกินกำหนด การไม่รับผิดชอบต่อป้ายทะเบียน 

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายระบุคะแนนเต็มไว้ 12 คะแนน จึงทำให้เกิดข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการเพิ่มบทลงโทษครั้งนี้เป็นอย่างมาก


กฎจราจรที่โหดที่สุดในประวัติศาสตร์

จากข้อกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยจากการคมนาคมบนท้องถนน มุ่งเน้นไปยังหน้าที่ของไฟเหลือง คือ การสร้างความปลอดโปร่งให้กับทางแยกบนท้องถนน เพื่อเป็นการรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างยานยนต์ ไฟเหลืองจะเตือนให้ยานยนต์ที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของรถผ่านเส้นหยุดรถไปแล้ว เร่งเครื่องให้พ้นจากทางแยกก่อนที่ไฟแดงจะขึ้น เมื่อไฟเหลืองดับลงยานยนต์ที่ผ่านเส้นหยุดรถไปแล้วสามารถวิ่งต่อไปได้ ส่วนคันที่ยังไม่ผ่านเส้นหยุดรถต้องเริ่มเบรกในจังหวะเดียวกับที่ไฟแดงปรากฏ เพราะฉะนั้นผู้ที่ฝ่าไฟเหลืองจึงถือว่าทำผิดกฎจราจร ตามข้อบังคับใหม่เลขที่ 123 ระบุให้ผู้ฝ่าฝืนถูกปรับ 6 คะแนน

ในกฎฯใหม่นี้ ยังได้เพิ่มบทลงโทษในหลายกรณี เช่น จงใจบดบังหรือทำลายป้ายทะเบียน ยานพาหนะที่ขับด้วยความเร็วเกิน 50% ผู้ขับรถบรรทุกสินค้าที่เมื่อยล้าหรือหลับใน และรถโดยสารที่หยุดบนทางด่วน จะถูกปรับ 12 คะแนน (จากเดิม 6 คะแนน) ยานพาหนะที่ฝ่าไฟแดง รถบรรทุกสินค้าที่บรรทุกเกิน 30% รถโดยสารที่บรรทุกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผู้โดยสารด้วยน้ำหนักเกิน 20% จะถูกปรับ 6 คะแนน (จากเดิม 3 คะแนน) ยานพาหนะที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย รถโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารเกินน้ำหนักไม่ถึง 20% รถบรรทุกสินค้าเกินน้ำหนักไม่ถึง 20% จะถูกปรับ 3 คะแนน (จากเดิม 2 คะแนน) รถโรงเรียนที่ใช้ป้ายดำ รถโรงเรียนที่บรรทุกเกิน 20% รถโรงเรียนที่ขับเร็วเกิน 20% พนักงานขับรถโรงเรียนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะ จะถูกปรับ 12 คะแนน (จากเดิมที่ไม่มีบทลงโทษ) ผู้ขับขี่ที่ไม่หลบให้รถโรงเรียนตามข้อกำหนด ผู้ขับขี่ที่สายตาสั้นแต่ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด จะถูกปรับ 6 คะแนน (จากเดิมที่ไม่มีบทลงโทษ)

สงครามน้ำลายกับ “การฝ่าไฟเหลือง”

ในกรณีของบทลงโทษจากการ "ฝ่าไฟเหลือง" มีประชาชนเข้าไปแสดงความในอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้สนับสนุนเชื่อว่าการบังคับใช้กฎฯที่เข้มงวดขึ้น จะเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนน เพราะผู้ขับยานพาหนะส่วนใหญ่เวลาเห็นไฟเหลืองต่างก็เร่งความเร็วเพื่อไม่ต้องติดไฟแดง ไม่มีใครอยากจะชะลอรถ

ด้านนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการจราจรท่านหนึ่งก็ได้ออกโรงชื่นชมว่า กฎฯจราจรฉบับปรับแก้ใหม่นี้เป็นทั้งความก้าวหน้าของกฎหมายและการส่งเสริมวัฒนธรรมการขับขี่ให้มีอารยะมากขึ้น เนื่องจากครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ของการปรับปรุงข้อบังคับผู้ขับยานยนต์ 

ทั้งนี้ ในประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการคมนาคมสัญจรของสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 2 ก็ได้เริ่มบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับไฟเหลือง ทว่านิยามของคำว่า “ฝ่าไฟเหลือง” ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จึงกำหนดไว้เพียงว่า ในสภาพการจราจรที่พิจารณาว่าปลอดภัย อนุญาตให้ยานพาหนะผ่านแยกได้ขณะไฟเหลืองขึ้น จวบจนถึงปี 2004 มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนน ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อไฟเหลืองปรากฏขึ้น อนุญาตให้ยานพาหนะที่ผ่านเส้นหยุดรถไปแล้วแล่นต่อได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงการตัดสินว่าผู้ฝ่าไฟเหลืองมีความผิดหรือไม่กลับไม่เป็นเอกฉันท์ ต่างถิ่นต่างจิตตัง ฉะนั้น การออกข้อกำหนดที่ชัดเจนขึ้นเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง เพราะจะช่วยปลูกฝังให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการขับขี่ยานหนะด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

ส่วนกลุ่มผู้ต่อต้านมองว่ากฎเหล็กนี้มีแต่จะเพิ่มอุบัติเหตุตามมา เช่น บางคันขับมาถึงเส้นขวางแล้วเพิ่งเห็นว่าไฟเหลืองกำลังจะดับ เบรกความเร็วไม่ทัน ทำให้ฝ่าไฟเหลืองโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือบางคนเห็นไฟเหลืองจะดับก็รีบเบรกกะทันหัน อาจทำให้รถข้างหลังชนท้ายได้

บ้างก็ตั้งข้อสงสัยว่าการเข้มงวดกับไฟเหลืองจะทำให้ผู้ขับยานยนต์แยกความแตกต่างระหว่างไฟเขียวกับไฟแดงอย่างไร หรือจะใช้ไฟเขียวอย่างเดียวเลยก็ดีเหมือนกัน ไฟขึ้นไป ไฟดับหยุด ทำให้ประหยัดไฟอีกด้วย (ข้อความนี้ได้รับการส่งต่อถึง 15,355 ครั้ง และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึง 5,455 ข้อความ)

บ้างก็ว่าการติดตั้งสัญญาณนับเวลาถอยหลังเป็นวินาที พร้อมกับเวลาที่ไฟเขียวหรือไฟแดงขึ้น ดังเช่นที่บางเมืองทำก็ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ไฟเหลืองหมดความจำเป็นไปตั้งนานแล้ว ต่อข้อเสนอดังกล่าว

ฝ่ายตำรวจจราจรมณฑลก่วงตงให้ความเห็นชอบ และได้เริ่มกระบวนการติดตั้งตามแต่งบประมาณจะเอื้ออำนวยแล้ว ขณะที่ฝ่ายการจราจรนครปักกิ่งกลับแย้งว่า สัญญาณนับเวลาถอยหลังไม่เหมาะกับการจราจรในเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง จึงยังไม่พิจารณาติดตั้งในช่วงนี้ มีแต่สัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนเท่านั้นที่ได้ติดตั้งสัญญาณนับเวลาถอยหลัง

“คนข้าม” กับ “คนขับ” ใครใหญ่กว่ากัน

จากการติดตามสถานการณ์ของสื่อท้องถิ่นเป่ยจิงเจ่าเฉิน พบว่าบริเวณสองข้างทางของสะพานเต๋อเชิ่งเหมินมีผู้คนเตรียมข้ามทางม้าลายยู่จำนวนหนึ่ง ทว่า รอจนไฟเขียวให้คนข้ามดับไป 2 รอบแล้ว ก็ยังไม่มีรถคันใดหยุดให้ กระทั่งคนเดินถนนจากทั้งสองรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ จึงพากันฝ่ารถข้ามทางม้าลายกันมาได้ เช่นเดียวกับปากทางตี้อันเหมิน ทางม้าลายอยู่ตรงกับทางเลี้ยวขวาพอดี คนเดินถนนได้แต่มองไฟเขียวเปลี่ยนเป็นไฟแดงตาปริบๆ ก็ไม่ได้ข้ามเสียที กระทั่งนักการจราจรมาถึงคอยโบกให้รถหยุด คนเดินถนนจึงมีโอกาสได้ข้าม

ในขณะที่กลุ่มผู้ขบยานพาหนะจำนวนหนึ่งกลับอ้างว่า ถ้าตัวเองหยุดให้คนข้าม แต่รถคันข้างหลังเบรกไม่ทัน แล้วจะทำอย่างไร มาตรฐานการหยุดรถให้คนข้ามน่าจะมีขีดจำกัด ต่อข้อตำหนินี้ นักการจราจรแย้งว่า การหยุดรถให้คนข้ามไม่ใช่เรื่องของการกำหนดขีดจำกัด แต่เป็นกฎจราจรที่พลเมืองทุกคนต้องปฏิบัติตาม การไม่ยอมให้คนข้าม นำมาซึ่งอุบัติเหตุต่างหาก คือ ความเกินเลย ฉะนั้น ผู้ใดฝ่าฝืนจึงปรับ 3 คะแนน สถานเดียว และหากเกิดอุบัติเหตุใดๆ ผู้ขับยานพาหนะคือฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย




กำลังโหลดความคิดเห็น