สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (中央政治局常委; Politburo Standing Committee of the Communist Party of China) หรือ กลุ่มผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนชุดล่าสุดหลังการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 18 หรือ สมัชชาฯ 18 มีทั้งสิ้น 7 ตำแหน่ง ประกอบไปด้วยสมาชิกและประวัติย่อดังนี้
1. สี จิ้นผิง (习近平)
เกิด : 1 มิถุนายน พ.ศ. 2496 (ค.ศ.1953) กรุงปักกิ่ง อายุ 59 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยชิงหัว, ปริญญาโททฤษฎีการเมืองและแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ สถาบันสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว และ ปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว
สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดของกลุ่มลูกท่านหลานเธอ (Princeling) หรือที่ในภาษาจีนเรียกว่า “ไท่จื่อตั่ง” ในกลุ่มผู้นำรุ่นที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยในอดีตมีตำแหน่งในเป็น 1 ใน 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหาร และเป็นทายาทเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนต่อจาก นายหู จิ่นเทา
สาเหตุที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มลูกท่านหลานเธอเนื่องจาก สี จิ้นผิง เป็นบุตรชายของ สี จ้งซุน อดีตผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เคยตำแหน่งสำคัญๆ อย่าง รองนายกรัฐมนตรี, ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง, เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้ง และ รองประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ โดยในช่วงวัยเด็กระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม สี จิ้นผิง ในวัยยังไม่เต็ม 16 ปี ถูกส่งไปใช้แรงงานในอำเภอเหยียนชวน ในเขตเมืองเหยียนอัน มณฑลส่านซี ก่อนที่ช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรมเขาจึงได้กลับเข้ามาเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนอย่างมหาวิทยาลัยชิงหัว
สี จิ้นผิง เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนมกราคม 2517 (ค.ศ.1974) โดยมีประสบการณ์ในการทำงานที่โดดเด่นคือ ผ่านงานในการเป็นเลขานุการใกล้ชิดของ เกิ่ง เปียว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนอำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย, กรรมการประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเมืองเซี่ยเหมิน, รองผู้ว่าเมืองเซี่ยเหมิน, เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตหนิงเต๋อ, เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เมืองฝูโจว, รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลฝูเจี้ยน, ผู้ว่าฯ มณฑลฝูเจี้ยน, รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง, เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียงรักษาการผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง, เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเซี่ยงไฮ้, อธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง
บนเส้นทางในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนรุ่นที่ 5 สี จิ้นผิงผ่านการดำรงตำแหน่งสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง ขณะที่ตำแหน่งในฝ่ายบริหารเป็น รองประธานาธิบดีจีน และรองประธานคณะกรรมาธิการทหาร เป็นที่ทราบกันดีว่า สี จิ้นผิง เป็นหนึ่งในผู้นำจอมปราบคอร์รัปชั่นในวงราชการจีน ขณะที่จากประสบการณ์อันยาวนานในการบริหารมณฑลชายทะเลฝั่งตะวันออก ทำให้คาดหมายกันว่าเขาน่าจะเป็นผู้นำที่มีแนวคิดค่อนข้างเปิดกว้างทางทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจะเอื้อต่อการปฏิรูปประเทศจีนต่อไปในอนาคต
2. หลี่ เค่อเฉียง (李克强)
เกิด : 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ.1955) อำเภอติ้งหย่วน มณฑลอันฮุย อายุ 57 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ศึกษาเพิ่มเติมทางกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ (ถือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งรุ่นแรกหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) ปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
หลี่ เค่อเฉียง เป็นผู้นำหัวแถวของกลุ่มประชานิยม (Populists) หรือในศัพท์ภาษาจีนคือถวนไพ่ ในกลุ่มผู้นำรุ่นที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยหลี่ เค่อเฉียง ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมืองในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม 2550 (ค.ศ.2007) โดยในช่วงแรกถูกคาดหมายว่าเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนกับ สี จิ้นผิง แต่ในเวลาต่อมาเมื่อหลี่ ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรองเลขาธิการพรรคประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศจีน ก็เป็นที่แน่ชัดว่า หลี่ เค่อเฉียง นั้นเป็นทายาทของ เวิน เจียเป่า
บิดาของ หลี่ เค่อเฉียง เป็นข้ารัฐการท้องถิ่นในมณฑลอันฮุย ในยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรม หลี่ในวัยเด็กถูกส่งไปใช้แรงงานในอำเภอเฟิ่งหยาง ของมณฑลอันฮุยและเขาก็ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้นเอง
หลี่ เค่อเฉียงฉายแววของการเป็นสมาชิกพรรคที่โดดเด่นตั้งแต่ถูกส่งไปใช้แรงงานในสมัยเด็ก ด้วยการได้รับรางวัลผู้ที่มีผลงานยอดเยี่ยมในการศึกษาแนวความคิดของประธานเหมา เจ๋อตง โดยต่อมาเมื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเลขาธิการคณะกรรมการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนสาขามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก่อนที่จะทำงานไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (Communist Youth League; CYL) โดยในช่วงนี้เองที่ หลี่มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับหู จิ่นเทา ผู้นำจีนคนปัจจุบันที่ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนที่หนึ่งของสำนักเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน และในปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) หลี่ก็เจริญรอยตาม หู จิ่นเทา โดยการขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในปี พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998) หลี่ได้ย้ายลงพื้นที่ไปรับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลเหอหนาน รักษาการผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างแร้นแค้น ก่อนที่จะสร้างผลงานโดดเด่นเป็นลำดับจนได้รับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลเหอหนานและผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน, เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลเหลียวหนิง โดยในปี 2550 ระหว่างที่เป็นผู้นำสูงสุดของมณฑลเหลียวหนิง เขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หลี่ยังมีผลงานในการจัดการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่เมืองต้าเหลียนอีกด้วย
จากผลงานและความคุ้นเคยกันกับผู้นำจีนรุ่นที่ 4 อย่างหู จิ่นเทา ทำให้ในปี 2550 หลี่ก็ถูกผลักดันให้เข้าเป็น 1 ใน 9 ของสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง ขณะที่ปีถัดมาเขาก็รับตำแหน่งทางบริหารเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของจีนรองจาก เวิน เจียเป่า
แม้จะเป็นผู้นำที่มีพื้นเพอันแตกต่างจากสี จิ้นผิง แต่คาดหมายกันว่าหลี่ เค่อเฉียง น่าจะได้รับการถ่ายทอดความคิดของกลุ่มประชานิยมไม่ว่าจะเป็น การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนชาวจีน, การพัฒนาพลังงานสะอาด, การดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร, การสาธารณสุข, การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประชาชนส่วนใหญ่ ฯลฯ มาจากหู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า ขณะที่ก็ไม่ละทิ้งความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม-การเกษตร, การพัฒนาเมือง และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของจีน เป็นต้น
3.จัง เต๋อเจียง (张德江)
เกิด : พฤศจิกายน พ.ศ.2489 (ค.ศ.1946) อำเภอไท่อัน มณฑลเหลียวหนิง อายุ 66 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคิม อิลซุง ในเกาหลีเหนือ (เรียนภาษาเกาหลีจากมหาวิทยาลัยเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน)
ชื่อของจัง เต๋อเจียง เป็นที่จดจำของชาวฮ่องกงว่าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม และมีฉายา "มิสเตอร์ไว้ใจได้" ในแวดวงการเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้งระหว่างปี 2545-2550 (ค.ศ.2002-2007)
จัง เต๋อเจียง เป็นชาวตงเป่ย (ชาวจีนที่มีถิ่นฐานะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน) เกิดที่เมืองไท่อัน มณฑลเหลียวหนิง เมื่ออายุได้ 22 ปี ในปี 2511 (ค.ศ.1968) ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมเขาถูกส่งลงไปในพื้นที่ชนบทในตำบลวังชิ่ง มณฑลจี๋หลินเป็นยุวชนปฏิวัติ ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาจะเข้าร่วมเป็นกลุ่มทำงานของคณะกรรมการโฆษณาการของตำบล และไต่เต้าขึ้นไปจนเป็นระดับเลขาธิการของคณะทำงาน
เดือนพฤษภาคม 2515 (ค.ศ.1972) จัง เต๋อเจียงก็เข้าศึกษาต่อด้านภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยเหยียนเปียน ในเขตปกครองตัวเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน ที่มีพรหมแดนอยู่ติดกับประเทศรัสเซีย และเกาหลีเหนือ จากนั้นในช่วงฤดูร้อนปี 2521 (ค.ศ.1978) จึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคิม อิลซุง ในเกาหลีเหนือและจบการศึกษาในปี 2523 (ค.ศ.1980)
สายสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเช่นนี้เองที่สร้างความแตกต่างให้ชายแซ่จังผู้นี้กับผู้นำจีนรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ
หลังจบการศึกษากลับมาจากเกาหลีเหนือเขาเคยรับตำแหน่งคณะกรรมการพรรคประจำมหาวิทยาลัยเหยียนเปียน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการพรรคประจำเมืองเหยียนจี๋ มณฑลจี๋หลิน, คณะกรรมการประจำเขตปกครองตัวเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน ซึ่งจากความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสายสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดนนี้เองที่ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจาก ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ให้ดูแลปัญหาชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยในเดือนมีนาคม 2533 (ค.ศ.1990) จังเคยเดินทางร่วมไปกับคณะของเจียงเพื่อเยือนเกาหลีเหนือ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลจี๋หลิน ควบกับเลขาธิการพรรคประจำเขตเหยียนเปียน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งใหญ่ที่สุดของเขตปกครองดังกล่าว
ในปี 2538 (ค.ศ.1995) จัง เต๋อเจียงถูกเจียง เจ๋อหมิน ดันขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลจี๋หลิน และประธานสภาผู้แทนประชาชนมณฑลจี๋หลิน และทำให้เขาถูกจัดให้เป็นพันธมิตรฯ ผู้ใกล้ชิดของกลุ่มเจียง เจ๋อหมินในพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปโดยปริยาย แต่ไม่ถูกนับว่าเป็น “แก๊งเซี่ยงไฮ้”
ระหว่างปี 2541-2545 (ค.ศ.1998-2002) จังถูกโยกไปนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเศรษฐกิจชายฝั่งที่อยู่ติดกับมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยระหว่างที่เขานั่งอยู่ในตำแหน่งนายใหญ่ของมณฑลเจ้อเจียง เขามีชื่อเสียงในหมู่นักธุรกิจว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในมณฑลอย่างดี
ก่อนที่ในปี 2545-2550 (ค.ศ.2002-2007) จังจะถูกโยกไปรับงานที่ยากขึ้นอีกระดับคือ เลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง พร้อมกับรับตำแหน่งสำคัญคือ สมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่คณะกรรมการประจำกรมการเมือง ขั้วอำนาจใจกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายใหญ่ของมณฑลกวางตุ้งเป็นเวลา 5 ปี จังต้องเจอโจทย์หินๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546, การบูรณาการเศรษฐกิจในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้าไข่มุก (Pearl River Delta) ซึ่งเกี่ยวพันกับเกาะฮ่องกง และมาเก๊าด้วย
ระหว่างที่รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง สื่อมวลชนทั้งจีนและต่างชาติต่างนำ “จัง เต๋อเจียง” ไปเปรียบเทียบกับ “ปั๋ว ซีไหล” ซึ่งในเวลานั้นนั่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันในมณฑลเหลียวหนิง โดยระบุว่าทั้งสองคนมีวิธีการจำกัดอิสรภาพและควบคุมสื่อมวลชนคล้ายๆ กัน
หลังพ้นจากตำแหน่งที่มณฑลกวางตุ้ง ในวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งของ “หู จิ่นเทา-เวิน เจียเป่า” ระหว่างปี 2551-2555 (ค.ศ.2008-2012) จังก็ได้รับตำแหน่งใหญ่คือรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านพลังงาน โทรคมนาคม และคมนาคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคที่จีนกำลังต้องการการพัฒนาและมีการเติบโตอย่างสูง ทั้งในช่วงต้นปีนี้ยังได้รับมอบหมายให้แก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากกรณีของ “ปั๋ว ซีไหล” ด้วย โดยเมื่อ ปั๋ว ซีไหลถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่งจากข่าวอื้อฉาวเรื่องคอร์รัปชั่นและคดีฆาตกรรมของภรรยาและลูกน้องในเดือนมีนาคม จัง เต๋อเจียงก็ถูกส่งให้ไปนั่งในตำแหน่งแทนที่ปั๋ว ซีไหล
4.อี๋ว์ เจิ้งเซิง (俞正声)
เกิด : เมษายน พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) อำเภอเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง อายุ 67 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์การทหารฮาร์บิน ภาควิชาจรวดนำวิธี วิชาเอกการควบคุมระบบอัตโนมัติของขีปนาวุธ
“อี๋ว์ เจิ้งเซิง” เป็นบุตรชายคนที่สามของ “อี๋ว์ ฉี่เวย” (หรือที่รู้จักกันในนาม “หวงจิ้ง”) โดยบิดาของเขาถือเป็นนักรบใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และชนชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคก่อตั้ง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดถึงนายกเทศมนตรีนครเทียนจิน (เทียนสิน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่มารดาของเขาคือ “ฟั่น จิ่น” สื่อมวลชนยุคบุกเบิกของสาธารณรัฐประชาชนจีน และถือเป็นหนึ่งในคณะผู้ผู้ก่อตั้งเครือหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน
ตระกูลอี๋ว์เป็นตระกูลใหญ่ ตระกูลเก่าแก่ในแวดวงการเมืองจีน โดยมีสายสัมพันธ์ทั้งในทางการเมืองและทางสายเลือดกับหลายตระกูลในแวดวงการเมืองจีนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งในแวดวงการเมืองจีนบนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ยกตัวอย่างเช่น “อี๋ว์ ฉี่เวย” บิดาของ “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” นั้นเป็นสามีคนแรกของ “เจียง ชิง” อดีตภรรยาของประธานเหมา เจ๋อตง และหนึ่งในผู้นำของ “แก๊งสี่คน”
นอกจากนี้บิดาของ “อี๋ว์ ฉี่เวย” หรือ ปู่ของ “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” นาม “อี๋ว์ ต้าฉุน” ก็ยังเป็นเพื่อนนักเรียนญี่ปุ่นกับ “หลู่ ซวิ่น” ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีในกระทรวงคมนาคมจีนในยุคทศวรรษที่ 1930
ส่วนบุตรชายคนโตของ “อี๋ว์ ฉี่เวย” หรือ พี่ชายของ “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” นาม “อี๋ว์ เฉียงเซิง” ก็ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองภูมิภาคอเมริกาเหนือ ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติจีน (ต่อมาคือ กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน) ก่อนที่ในปี 2529 (ค.ศ.1986) จะทรยศเปิดเผยความลับของจีน ทำให้ต้องลี้ภัยในอยู่ในสหรัฐฯ ในฐานะคนขายชาติ
ทว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” นั้นมีความใกล้ชิดกับ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีนและครอบครัวของเติ้งอย่างยิ่ง จนมีคนกล่าวว่า “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” นั้นเป็นตัวแทนของตระกูลเติ้งในเวทีการเมืองจีน โดยบุคคลในตระกูลเติ้งที่เขาสนิทสนมด้วยที่สุดก็คือ “เติ้ง ผู่ฟัง” บุตรชายคนโตของเติ้ง เสี่ยวผิง (ที่พิการอัมพาตครึ่งล่างจากเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม)
อี๋ว เจิ้งเซิง เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายน 2507 (ค.ศ.1964) โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่วัยหนุ่ม ขณะยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่สถาบันวิศวกรรมศาสตร์การทหารฮาร์บิน ซึ่งเขาจบการศึกษาในปี 2511 (ค.ศ.1968) ก่อนเข้าทำงานในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเมืองจังเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ยในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และไต่เต้าขึ้นมาจนกระทั่งได้เป็นระดับผู้บริหารหลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม
หลังเติ้ง เสี่ยวผิง ปฏิรูปเปิดประเทศ อี๋ว์ เจิ้งเซิงประสบความอุปสรรคสำคัญในชีวิตการเมืองเมื่อพี่ชายคนโตถูกตราหน้าว่าเป็น “คนขายชาติ” โดยเป็นผู้เผยความลับทางข่าวกรอง และเปิดเผยชื่อนักจารกรรมที่รัฐบาลจีนส่งเข้าไปแทรกซึมในสหรัฐฯ ทว่าก็ได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเอียนไถ พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของมณฑลซานตงในปี 2528 (ค.ศ.1985) และได้เลื่อนขั้นจนได้เป็นพ่อเมือง ต่อมาในปี 2532 (ค.ศ.1989) ก็ถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ รองเลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองชิงเต่า รองนายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีเมืองตามลำดับ
อี๋ว์ เจิ้งเซิง ทำงานในมณฑลซานตงอย่างยาวนาน กว่า 12 ปี โดยประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันให้ แบรนด์เบียร์ชิงเต่า และเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเออร์โด่งดังในตลาดโลก ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายที่เขาได้รับคือ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองชิงเต่า ก่อนถูกดึงเข้ามาทำงานในส่วนกลางในปี 2540 (ค.ศ.1997) โดยรับงานเลขาธิการพรรคฯ ประจำกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทจีน และรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกระทรวง ก่อนที่ในปีถัดมาจะถูกยกระดับให้เป็นเจ้ากระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทจีน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจู หรงจี
กระทั่งปี 2544 (ค.ศ.2001) ก็ถูกย้ายให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเหอเป่ย และในปีถัดมาในการประชุมสมัชชา 16 “อี๋ว์ เจิ้งเซิง” ก็กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง หรือซึ่งเป็นบุคลากรระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในปี 2550 (ค.ศ.2007) อี๋ว์ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ สมาชิกคณะกรรมการนครเซี่ยงไฮ้, สมาชิกคณะกรรมการประจำนครเซี่ยงไฮ้ และเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ โดยเข้าไปรับหน้าที่ที่เซี่ยงไฮ้แทน “สี จิ้งผิง” ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้นำประเทศคนใหม่
5. หลิว อวิ๋นซาน (刘云山)
เกิด : กรกฎาคม พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) เมืองซินโจว มณฑลซานซี อายุ 65 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยครูจี๋หนิง เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และปริญญาตรีด้านการบริหารพรรคและรัฐกิจ จากโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง
หลิว อวิ๋นซาน เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนเมษายน 2514 (ค.ศ.1971) แต่ทำงานให้กับพรรคมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น โดยเมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูจี๋หนิง ก็ทำงานเป็นครูในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และย้ายไปทำงานด้านโฆษณาการ (ประชาสัมพันธ์) ของพื้นที่
หลิว ทำงานอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว่า 20 ปี โดยเคยทำงานในทุกระดับตั้งแต่ครู ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหวา รองเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนแห่งเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และไต่เต้าขึ้นไปจนถึงงานในระดับบริหารของเขตปกครองตัวเองมองโกเลีย ในเช่น คณะกรรมการประจำเขตปกครองฯ, ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาการของเขตปกครองฯ, เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองชื่อเฟิง เขตปกครองตัวเองมองโกเลียใน ฯลฯ
ด้วยประสบการณ์อันยาวนานด้านโฆษณาการและสายสัมพันธ์กับสื่อมวลชนทำให้ในปี 2536 (ค.ศ.1993) หลิวถูกดึงตัวเข้ามาทำงานที่ส่วนกลางในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการโฆษณาการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กระทั่งในปี 2545 (ค.ศ.2002) ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 16 ก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการ และรัฐมนตรีว่าการโฆษณาการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (中共中央宣传部)
กระทั่งล่าสุดหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 18 ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกลางประจำพรรคคอมมิวนิสต์ คณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 7 ของคณะกรรมการประจำกรมการเมืองภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคนใหม่
6. หวัง ฉีซาน (王岐山)
เกิด : กรกฎาคม พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง (พื้นเพบรรพบุรุษเป็นชาวอำเภอเทียนเจิ้น มณฑลซานซี) อายุ 64 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซีเป่ย (มหาวิทยาลัยตะวันตกเฉียงเหนือแห่งประเทศจีน)
ในยุคหู จิ่นเทา-เวิน เจียเป่า “หวัง ฉีซาน” รับหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจซึ่งดูแล ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า โดย หวัง ฉีซาน ถือว่าเป็นผู้นำจีนรุ่นใหม่ที่มีบทสำคัญอย่างยิ่งในเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยเฉพาะการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจ ผ่านการสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 (ค.ศ.2006) ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เรื่อยมาจนถึงยุคที่ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นบารัก โอบามา ซึ่งหวัง ฉีซาน รับหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนในการเจรจากับฝั่งสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด
หวัง ฉีซาน เกิดในครอบครัวปัญญาชน โดยบิดาเป็นวิศวกรที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ในวัยหนุ่มหลังเรียนจบชั้นมัธยม หวัง ฉีซาน ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมด้วยการถูกเกณฑ์ลงไปใช้แรงงานที่เมืองเหยียนอัน มณฑลส่านซี เหมือนคนรุ่นเดียวกัน และที่เหยียนอันนี้เองที่เขามีโอกาสได้พบรักกับ เหยา หมิงซาน บุตรสาวของชนชั้นนำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง เหยา อีหลิน ซึ่งหลังประเทศจีนผ่านพ้นกับมรสุมของการปฏิวัติวัฒนธรรม เหยา อีหลิน มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งสูงถึงรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของจีน
ด้วยความที่มีพ่อตาเป็นถึงผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังเข้าเป็นสมาชิกพรรคในเดือนกุมภาพันธ์ 2526 (ค.ศ.1983) ทำให้เขาได้รับโอกาสในการทำงานให้พรรคในตำแหน่งสำคัญมากมาย และในเวลาต่อมาได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มลูกท่านหลานเธอของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ระหว่างปี 2537-2540 หวัง ฉีซานดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน (China Construction Bank) ธนาคารยักษ์ใหญ่ 1 ใน 4 ของจีน, ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบเศรษฐกิจแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีจีน, เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ)
ในเดือนเมษายน 2546 ขณะที่เกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซาร์ส หวัง ฉีซานได้ถูกดึงตัวให้มาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปักกิ่งแทน เมิ่ง เสียว์หนง เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ ซึ่งเขาก็สามารถแสดงผลงานได้ดี ทั้งยังมีบทบาทอย่างยิ่งในการตระเตรียมมหานครปักกิ่ง ในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2551 (ค.ศ.2008)
ผลงานอันโดดเด่นของหวัง ฉีซาน ทำให้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในปีต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีจีน นอกจากนี้ด้วยประสบการณ์ที่เฟื่องฟูในทางการบริหารเศรษฐกิจทำให้มหาวิทยาลัยชิงหัวแต่งตั้งเขาให้เป็นศาสตราจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการอีกด้วย
7. จัง เกาลี่ (张高丽)
เกิด : พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 (ค.ศ.1946) อำเภอจิ้นเจียง มณฑลฝูเจี้ยน อายุ 66 ปี
เพศ : ชาย
เชื้อชาติ : ฮั่น
การศึกษา : ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (เอกสถิติและการวางแผน) มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน
จัง เกาลี่ จบการศึกษามาทางด้านเศรษฐศาสตร์และการวางแผน และเริ่มทำงานในสายนี้โดยตรง โดยหลังจากจบการศึกษาในปี 2513 (ค.ศ.1970) เขาทำงานให้กับบริษัทน้ำมันเม่าหมิงในมณฑลกวางตุ้งนานกว่า 15 ปี โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งพนักงาน ก่อนขยับขึ้นเป็นรองเลขาธิการ เลขาธิการพรรคประจำกลุ่มบริษัทฯ ผู้จัดการฝ่ายวางแผน รองผู้จัดการและผู้จัดการใหญ่ของกลุ่มบริษัทเม่าหมิง
เดือนพฤศจิกายน ปี 2516 (ค.ศ.1973) จัง เกาลี่ในวัย 27 ปีเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเข้ามามีบทบาทสำคัญ หลังเติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการปลดปล่อยกำลังการผลิต และเปิดประเทศ โดยในปี 2528 (ค.ศ.1985) จางเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าแห่งมณฑลกวางตุ้ง, เลขาธิการคณะทำงานของพรรคฯ
ปี 2531 (ค.ศ.1988) จางขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ก่อนที่ในปี 2540 (ค.ศ.1997) จะได้รับหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของเมืองเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษของมณฑกวางตุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกงที่ในปี 2540 เพิ่งกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่ ผลงานที่เซินเจิ้นของจางเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคฯ จนทำให้ภายในเวลาไม่กี่ปีให้หลังเขาก็ได้ขยับขึ้นเป็นผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลกวางตุ้งควบตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งตามลำดับ
ก่อนการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 ในปี 2550 (ค.ศ.2007) จัง เกาลี่ถูกโยกให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเทียนจิน เมืองท่าสำคัญที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงปักกิ่ง และเป็น 1 ใน 4 มหานครที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 ของกรรมการประจำกรมการเมือง และล่าสุดในการประชุมสมัชชา 18 ในปีนี้ เขาก็เบียดตัวเข้าเป็น 1 ใน 7 สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ในที่สุด