เอเยนซี - จีนล่องเรือออกลาดตระเวนบริเวณชายฝั่งสามมณฑลและอีกหนึ่งเขตปกครองตนเองครั้งแรกในทะเลจีนใต้เมื่อวันพุธ (7 พ.ย.) ชี้เป็นการยกระดับกฎหมายความมั่นคงทางทะเล
การลาดตระเวนครั้งนี้จะกินเวลาห้าวัน ประกอบไปด้วยเรือจากสำนักงานความปลอดภัยทางน้ำของรัฐบาลก่วงซี ก่วงตง ฝูเจี้ยนและไห่หนาน ในครั้งนี้ เรือไห่สวิน 31 ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนระวางใหญ่สุดของจีน ก็ร่วมกองขบวนด้วย
เจ้าหน้าที่แซ่ซ่งจากสำนักงานความปลอดภัยทางน้ำฯ เผยว่า การลาดตระเวนข้ามมณฑลนั้นเป็นเรื่องปรกติ มีเป้าหมายเพื่อขยายศักยภาพด้านการตรวจตราชายฝั่งให้ถี่ถ้วนขึ้น แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลาดตระเวนในอนาคต
การที่สำนักความปลอดภัยทางน้ำจัดเรือลาดตระเวนสองถึงสามลำล่องไปในทะเลจีนใต้ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันกิจกรรมผิดกฎหมาย รวมไปถึงการสอดส่องการปล่อยสารพิษอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมลงทะเลด้วย
เซิ่น ชุนเซิง รองผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยทางน้ำก่วงซีเผยว่า แผนการลาดตระเวนร่วมนั้นมีการคาดว่าจะล่องไปทางน้ำเป็นระยะประมาณ 1,000 กม. เพื่อตรวจหามลพิษที่บรรดาเรือต่าง ๆ ปล่อยลงทะเล และจะช่วยให้กฎหมายการตรวจตราชายทะเลเพื่อความปลอดภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การลาดตระเวนครั้งนี้เป็นครั้งล่าสุดที่จีนเพิ่มกำลังคุมเข้มการตรวจตราในทะเลจีนใต้
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 พ.ย.) คณะมุขมนตรีจีนได้ผ่านร่างแผนการจัดเขตทางทะเลในมณฑลทางตอนใต้ของจีนอันได้แก่ ก่วงตงและไห่หนาน โดยจะบังคับใช้ก่อนปี 2563 ซึ่งก็ตอกย้ำว่า ศักยภาพของกฎหมายความมั่นคงชายฝั่งของจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ย้ำในการเปิดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เต็มคณะครั้งที่ 18 เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศจะต้องพิทักษ์อย่างเต็มกำลัง
ขณะนี้จีนได้เตรียมรับมือกับปัญหาซับซ้อนเกี่ยวกับกรณีพิพาททางทะเลแล้ว
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เมืองซานซา มณฑลไห่หนาน เมืองใหม่ล่าสุดของจีนก็ได้สถาปนาเกาะหย่งซิงให้เป็นศูนย์กลางการควบคุมดูแลบริหารหมู่เกาะซีซา จงซาและหนานซา รวมไปถึงน่านน้ำโดยรอบ
ในปีหน้า 2556 คาดว่ากองลาดตระเวนทางทะเลของจีนจะมีเรือตรวจการณ์อีก 36 ลำเพิ่มเข้ามาร่วมขบวนด้วย
แหล่งข่าววงในให้สัมภาษณ์กับไชน่าเดลีว่า ขณะนี้จีนกำลังมีการตั้งหน่วยงานด้านการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งจะขึ้นโดยตรงกับกระทรวงหรือสำนักงานรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ปัญหาพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในปีนี้ทวีความรุนแรง
ฟิลิปปินส์และเวียดนามพยายามขยายพื้นที่ อ้างอธิปไตยเหนือเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ก่อให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ต่าง ๆ และทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสหรัฐล่องเรือบรรทุกอากาศยานเข้ามาในพื้นที่ใกล้เคียง กอปรกับในเดือนต.ค. สหรัฐฯ ยังได้ประกาศว่าเรือมะกันจะแล่นผ่านทะเลจีนใต้เพื่อไปเยี่ยมเยียนฟิลิปปินส์
ในเดือนเม.ย. ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีก เมื่อเวียดนามอนุญาตให้บริษัทอินเดียเข้ามาทำการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้
หลี่ เจี่ยอี๋ว์ นักวิจัยด้านการเมืองศึกษาแห่งโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลไห่หนาน ได้เคยให้สัมภาษณ์กับไชน่าเดลีว่า แม้ว่าจีนจะต้องเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนทางทะเลมากเพียงใด จีนก็มักจะอดทนจนถึงขีดสุดกับทุกฝ่าย หลี่เผยด้วยว่า จีนควรจะตระหนักถึงการตรวจตราผลประโยชน์ทางทะเลของตน รวมถึงประเด็นด้านอธิปไตยให้มากกว่านี้
ภาพเรือไห่สวิน 31 และไห่สวิน 183 ร่วมล่องแล่นในทะเลจีนใต้ผ่านสามมณฑลและหนึ่งเขตปกครองตนเองฯ (ภาพไชน่านิวส์)