xs
xsm
sm
md
lg

เรือรบมังกร 7 ลำแล่นห่างจากเกาะเตี้ยวอี๋ว์ 200 กม. กลาโหมยุ่นคาด ไม่น่ามาถึงเกาะฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองแสดงเส้นทาง 3 ทางที่กองทัพเรือจีนมักใช้เมื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยเรือรบจีน 7 ลำนี้ คาดว่าน่าจะใช้เส้นทางหมายเลข 2 โดยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ผ่านช่องแคบมิยาโกะ (ช่องแคบกงกู้ ในภาษาจีน) ออกสู่แปซิฟิก และใช้เส้นทางหมายเลข 3 เพื่อกลับสู่ฐานทัพเรือโจวซานในมณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. (ภาพเอเยนซี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเยนซี--กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว เผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ (16 ต.ค.) พบเรือจีน 7 ลำ แล่นอยู่ใกล้กับบริเวณน่านน้ำเกาะของญี่ปุ่น และกำลังมุ่งหน้าไปเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งถือเป็นการกระพือความขัดแย้งกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศ

สื่อญี่ปุ่นรายงาน รายงาน เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ เครื่องบินญี่ปุ่นสำรวจพบเรือรบจีน 7 ลำ แล่นเข้าน่านน้ำเกาะโยนากูนิ (ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย และเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติว่าเป็นของญี่ปุ่น) ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 49 กิโลเมตร

โฆษกกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวว่า ในบรรดาเรือรบทั้ง 7 ลำ แบ่งเป็น เรือพิฆาต 2 ลำ ซึ่งอย่างน้อย 1 ลำ บรรทุกขีปนาวุธ เรือฟริเกต 2 ลำ เรือกู้ภัยเรือดำน้ำ 2 ลำ และเรือขนเสบียงอีก 1 ลำ “พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปทางเหนือ จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังทะเลจีนตะวันออก และอยู่ในน่านน้ำประชิดห่างออกไปจากเขตน่านน้ำเกาะนากาโนะคามิชิมะ ราว 44 กิโลเมตร”

ซาโตชิ โมริโมโต้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า “ในตอนนี้ เรายังไม่เห็นการกระทำใดๆ อย่างเฮลิคอปเตอร์บินจากเรือรบ และมุ่งหน้าสู่ดินแดนหรือเรือของเรา ในบริเวณน่านน้ำอธิปไตย ทางเรายังไม่แน่ชัดนักว่าเรือเหล่านี้จะมุ่งหน้าไปทางใด แต่คาดว่าไม่น่าจะแล่นเข้ามาใกล้บริเวณน่านน้ำเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งขณะนี้ เรือจีนอยู่ห่างจากเกาะฯ ถึง 200 กิโลเมตร"

"อย่างไรก็ดี เราก็ได้แจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง และเครื่องบินและเรือยังคงลาดตระเวนต่อไปเช่นกัน รวมทั้ง เฝ้าระวังและเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของเรือรบจีนอย่างละเอียด" โมริโมโต้กล่าวเสริม

ฐานทัพเรือจีน ถูกโอบล้อมด้วยเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น และจำเป็นต้องแล่นเข้าใกล้เกาะฯ เพื่อที่จะออกจากทะเลจีนตะวันออกเข้าไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ดี ยังมีช่องแคบระหว่างเกาะ ซึ่งเรือขนาดใหญ่สามารถแล่นห่างจากพื้นที่ประชิดของญี่ปุ่น ซึ่งห่างออกไปจากเขตน่านน้ำราว 12 ไมล์ทะเล (ราว 22 กิโลเมตร)

ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 2525 (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นได้ลงนามร่วม ระบุไว้ว่า เรือต่างชาติ รวมทั้งเรือทางทหาร มีสิทธิโดยชอบในการใช้พื้นที่ประชิด (contiguous zone) โดย UNCLOS ระบุอีกว่า รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็น เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง หรือการสุขาภิบาล ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ mrpolicy.trf.or.th)

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เรือตรวจการณ์และเรือประมงจีน แล่นเข้ามาใกล้บริเวณน่านน้ำเกาะพิพาทอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบเห็นกองกำลังทหารแต่อย่างใด ทว่า ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กำลังวางแผนร่วมฝึกซ้อมทางทหาร เพื่อจำลองการชิงเกาะกลับคืนจากกำลังทหารของต่างชาติ ซึ่งจะเริ่มในต้นเดือนหน้า (พ.ย.) บนเกาะไร้ผู้คนในโอกินาวา

การประกาศของกระทรวงกลาโหมมีขึ้นหลังจากข้อพิพาทกรณีเกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเริ่มสงบลง นับตั้งแต่ความไม่ลงรอยรุนแรงมากขึ้นช่วงเดือนส.ค. และก.ย.ที่ผ่านมา เกิดเป็นข้อพิพาทระดับชาติจากทั้งสองประเทศ ประชาชนเดินขบวนในเมืองใหญ่ของจีน ทำลายบริษัท สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าของชาวญี่ปุ่น จนทำให้ต้องปิดทำการชั่วคราว

นอกจากนี้ การค้าระหว่างจีนและญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว (2554) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก วันนี้ (16 ต.ค.) ผู้ผลิตค่ายรถยนต์โตโยต้า รายงานว่ากำลังวางแผนปิดโรงงานในจีนชั่วคราว เนื่องจากความต้องการสินค้าญี่ปุ่นลดฮวบ

กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุน เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อญี่ปุนลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ที่มีทั้งหมด 5 เกาะ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างในหลายเมืองใหญ่ของจีน กินเวลากว่า 8 วัน จนเมื่อวันที่ 20 ก.ย. การประท้วงเริ่มคลี่คลาย

เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก บริเวณน่านน้ำเกาะฯ เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

ฝ่ายจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะฯ มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911) อย่างไรก็ตาม เกาะฯ ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลว่า เป็นของญี่ปุ่นที่ได้ผนวกรวมเข้าไปในปีพ.ศ. 2438 ทำให้จีนและญี่ปุ่นพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ นี้มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพเรือรบที่เครื่องบินทหารของญี่ปุ่นสามารถจับภาพได้ ซึ่งเป็นเรือที่กำลังมุ่งหน้าสู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. (ภาพเอเยนซี)
เรือพิฆาต ฮาร์เอ่อร์ปิน หมายเลข 112
เรือพิฆาตบรรทุกขีปนาวุธ สือจยาจวง หมายเลข 116
เรือฟริเกต เหมียนหยัง หมายเลข 528
เรือฟริเกต เหยียนเฉิง หมายเลข 546
เรือกู้ภัยเรือดำน้ำ ฉังซิ่งเต่า หมายเลข 861
เรือกู้ภัยเรือดำน้ำรุ่นใหม่ หมายเลข 864
เรือขนเสบียง หงเจ๋อหู หมายเลข 881

กำลังโหลดความคิดเห็น