xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันเน้นสานสัมพันธ์จีน ย้ำจุดยืนกรณีพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ในงาน 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วของไต้หวัน กล่าวสุนทรพจน์ในวันจันทร์ ที่ 10 ต.ค. 2555 เนื่องในโอกาสฉลองครบ 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่ ที่สามารถล้มล้างราชวงศ์ชิงได้ ณ กรุงไทเป (ภาพหวั่งอี้)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเยนซี--ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วของไต้หวัน แถลงวานนี้ (10 ต.ค.) เนื่องในโอกาสฉลองครบรอง 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่ โดยจะสานนโยบายความสัมพันธ์ไต้หวัน-จีนต่อไป รวมทั้งย้ำจุดยืนกรณีพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋ว์

สื่อจีนรายงาน ในสุนทรพจน์ หม่าให้สัญญา จะขยายความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน โดยการผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่จะอนุญาตให้ทั้งสองฝ่าย สามารถจัดตั้งสำนักงานตัวแทนทั้งในไต้หวันและจีนได้ ซึ่งการแก้ไขนี้จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติของไต้หวันเพื่อดำเนินการพิจารณาและอนุมัติต่อไป

การจัดตั้งฯ นี้ จะช่วยดูแลการทำธุรกิจ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั้งชาวไต้หวันและจีน “นี่จะเป็นเป้าหมายหลักของการทำงานในความสัมพันธ์ไต้หวัน-จีน ในการก้าวไปข้างหน้า” หม่ากล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า รัฐบาลของเขาจะพยายามขยายความสัมพันธ์ในช่องแคบไต้หวันต่อไป บนพื้นฐานของ “ฉันทามติ 1992”*

หม่า อิงจิ่ว ผู้นำแห่งพรรครัฐบาลกั๋วหมินตั่ง หรือก๊กมินตั่ง ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2551 และยังชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (14 ม.ค.) โดยมีวาระการทำงาน 4 ปี

นโยบาย “ฉันทามติ 1992” ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไต้หวันและจีนเริ่มยกระดับดีขึ้น โดยนโยบายฯ ดังกล่าว ทำให้การติดต่อระหว่างทั้งสองฝ่ายสะดวกมากขึ้น และยังมีการลงนามข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย 18 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือในด้านการค้า การท่องเที่ยวและการขนส่ง

หม่ายังพูดถึง ทิศทางการบริหาร 4 หลักใหญ่ อาทิ เสนอการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เพิ่มระดับอัตราค่าจ้าง ขจัดอุปสรรคในการลงทุน และสร้างโอกาสการมีงานทำ โดยจะขอให้ภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มการลงทุนในด้านการท่องเที่ยวของไต้หวัน และบรรลุเป้าหมายที่จะมีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนภายในปี 2559

นอกจากนี้ กล่าวย้ำถึงกรณีพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋วอีกว่า หากพิจารณาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ แผนที่ หรือกฎระหว่างประเทศ หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ใกล้กับไต้หวัน กว่าร้อยปี ชาวประมงไต้หวันมีวิถีชีวิตดั้งเดิมในการจับปลาบริเวณน่านน้ำเกาะฯ
“เรือตรวจการณ์ไต้หวันจะยังคงดูแลเรือประมงและปกป้องพื้นที่ชายฝั่งในบริเวณนี้ต่อไป” เขากล่าว รวมทั้ง ย้ำถึงดินแดนอธิปไตยเหนือเกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี หม่าก็เรียกร้องการเจรจาอย่างสันตี กรณีพิพาทต่างๆ และขอให้หลายฝ่ายที่อ้างสิทธิร่วมมือกันในการสำรวจทรัพยกรธรรมชาติ

ทั้งนี้ ภายในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่ ยังมีการแจกสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ปกป้องเกาะเตี้ยวอี๋ว์” กว่า สองหมื่นแผ่น ให้กับผู้ที่มาร่วมงานฯ ซึ่งแจกได้ไม่นาน สติ๊กเกอร์ก็หมดภายในพริบตา

พิธีเฉลิมฉลอง 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่ จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาคม เป็นการรำลึกถึงการโค่นล้มราชวงศ์ชิงของจีนและสถาปนาสาธารณรัฐแห่งชาติจีนขึ้นมาได้

หลังจากนั้นสาธารณรัฐแห่งจีน หรือ ไต้หวันก็เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปีพ.ศ. 2492 เมื่อเจียง ไคเช็กพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ จนต้องถอยร่นมาตั้งรัฐบาลอยู่ที่เกาะไต้หวัน และเรียกตัวเองว่า “สาธารณรัฐจีน” แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะอ้างว่าจีนมีอำนาจเหนือไต้หวันก็ตาม

* “ฉันทามติ 1992” (“九二共识” หรือ 1992 Consensus) รับรอง ‘หลักการหนึ่งจีน’ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนไต้หวันได้ประชุมกันที่ฮ่องกง ในเดือนพ.ย. ปี 1992 (2535) บรรลุข้อตกลง “หลักการหนึ่งจีน” โดยทั้งสองฝ่ายรับรองว่า “ในโลกนี้” มีเพียงจีนเดียว ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่างก็เป็นจีนเหมือนกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีการแถลงคำจำกัดความ “หนึ่งจีน” ของตน
ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วของไต้หวันกับภริยาโจว เหม่ยชิง ปรบมือในระหว่างพิธีฉลองครบ 101 ปี ปฏิวัติซินไฮ่ ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 10 ต.ค. (ภาพหวั่งอี้)
ชมภาพขบวนพาเหรดของทหาร 3 เหล่าทัพ และนักเรียนนักศึกษาในชุดการแสดงต่างๆ เนื่องในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 101 ปี ของการสร้างชาติ หรือที่เรียกว่า “ปฎิวัติซินไฮ่” ณ กรุงไถเป่ยของไต้หวัน เมื่อวันที่ 10 ต.ค. (ภาพหวั่งอี้)
(1)
(2)
(3)
(4)
(5)
(6)
(7)
(8)
(9)

กำลังโหลดความคิดเห็น