xs
xsm
sm
md
lg

หู-เวินร่วมพิธีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกจีน เข้าประจำการอย่างเป็นทางการ (ชมภาพ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หู จิ่นเทา ประธานธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ มอบธงกองทัพและหนังสือเปลี่ยนชื่อเรือฯ ให้แก่ จัง เจิง ผู้บัญชาการเรือบรรทุกเครื่องบินคนแรก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
ซินหวา/เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์--เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน เข้าประจำการกองทัพอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเปลี่ยนชื่อเรือจากชื่อ "วาร์ยัค" ลำนี้ เป็นชื่อจีน "เหลียวหนิง"

เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ของวานนี้ (25 ก.ย.) นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ (CMC) เดินทางมาพร้อมกับนายเวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธีการส่งมอบและเข้าประจำการกองทัพของเรือบรรทุกเครื่องบิน

จีนได้ตั้งชื่อใหม่แก่เรือบรรทุกเครื่องบิน"วาร์ยัค" ว่า "เหลียวหนิง" ตามชื่อมณฑลที่ตั้งของท่าเรือต้าเหลียนแห่งมณฑลเหลียวหนิง อันเป็นสถานที่ซ่อมแซมเรือฯ รวมทั้งหมายเลขตัวลำเรือ "16"

นายกฯ เวิน แถลงในพิธีการว่า “การเปลี่ยนชื่อเรือและเข้าประจำการของเรือฯ ลำแรกนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน แสดงถึงความรุดหน้าในการพัฒนายุทโปกรณ์ และการปรับความทันสมัยด้านการป้องกันประเทศ”

จากนั้น หู ได้มอบธงกองทัพ และหนังสือเปลี่ยนชื่อเรือบรรทุกเครื่องบินให้กับจัง เจิง ผู้บัญชาการเรือฯ คนแรก จากนั้น หลังเสร็จสิ้นพิธี หู และเวิน ได้เดินสำรวจในบริเวณเรือฯ และพูดคุยกับเหล่าทหารเรือ

ทว่า นายสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของจีน และรองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ มิได้ปรากฎตัวในพิธีการเมื่อวานนี้แต่อย่างใด

นายจอห์นนี่ หลิว รุ่ยเจา ผู้สังเกตการณ์จีนในฮ่องกง กล่าวว่า “สี เองคงจะต้องเก็บตัว เนื่องจากเขายังไม่ได้รับมอบอำนาจและสถานะทางการเมืองในกองทัพ”
หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ (CMC) พร้อมด้วยผู้นำระดับสูงของจีนเข้าร่วมพิธีการเปลี่ยนชื่อและเข้าประจำการครั้งแรกของเรือบรรทุกเครื่องบิน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
นักวิชาการจีนประเมินความเป็นไปของเรือฯ “เหลียวหนิง”

มีการคาดการณ์ว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” อาจใช้ในภารกิจในทะเลจีนตะวันออก เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างจีนและญี่ปุ่นกรณีเกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่หลี่ เจี๋ย นักวิจัยแห่งสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์การทหารแห่งกองทัพเรือจีน กลับกล่าวว่า นี่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยตรง

“เราไม่ได้ต้องการใช้เรือฯ เหลียวหนิงในการแก้ปัญหาพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋ว์ เพราะการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ เป็นแผนระยะยาว ไม่ใช่นำมาใช้ในเป้าหมายระยะสั้น” หลี่กล่าว

ซู กวนอี้ว์ นักวิจัยอาวุโสของสมาคมควบคุมและปลดอาวุธแห่งจีน (China Arms Control and Disarmament Association) ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถแล่นเลียบแนวชายฝั่งของจีนที่มีระยะทาง 18,000 กิโลเมตรได้อย่างสบาย และเขาเชื่อว่าการจัดพิธีเปลี่ยนชื่อและเข้าประจำการของเรือฯ ก่อนวันชาติจีนที่จะมาถึงในวันจันทร์หน้า (1 ต.ค.) เป็น “การเคลื่อนไหวโดยเจตนา” เพื่อที่จะบรรเทาแรงปะทะทางการเมืองของจีน

ทั้งหลี่ และซู ต่างเน้นย้ำว่า เรือฯ เหลียวหนิงคงจะต้องใช้เวลาหลายปีที่จะกลายเป็นเรือธงแห่งกลุ่มเรือรบ

แอนโทนี หว่อง ตง ประธานสมาคมการทหารระหว่างประเทศ (International Military Association) ในมาเก๊า เผยว่า เรือฯ นี้จะมีแสนยานุภาพในการรบจริงๆ ได้ก่อนปี 2558 “ยังมีสิ่งสำคัญที่ขาดไปบนอากาศยานของเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องบินขับไล่ J 15” โดยบนอากาศยานมีแบบจำลองเครื่องบินขับไล่ J 15 (歼15 หรือ Jian-15) จำนวน 2 ลำจากการทดลองออกทะเลกว่า 10 ครั้ง

พลเรือตรีหยัง อี้ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยป้องกันแห่งชาติ กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) กล่าวว่า “จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่และสิทธิผลประโยชน์ในน่านน้ำมหาศาล ซึ่งที่จะต้องปกป้อง รวมทั้งผลประโยชน์นอกประเทศที่ขยายขึ้น ทำให้ต้องมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง เพื่อประกันความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ เรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” จะใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการฝึกเป็นหลัก อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แสนยานุภาพของกองทัพ”
บนเรือบรรทุกเครื่องบินมีการประดับประดาด้วยธงหลากสี พร้อมด้วยทหารเรือที่เข้าร่วมและอารักขาในพิธีการเข้าประจำการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
ขณะนี้จีนกลายเป็นประเทศที่ 10 ในโลกที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน และเป็นประเทศสุดท้ายในสมาชิกถาวร 5 ประเทศของสหประชาชาติที่มีเรือฯ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ประเทศที่มีเรือฯ ประกอบด้วย สหรัฐฯ อิตาลี สเปน ไทย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย และบราซิล

ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนนี้ เป็นเรือที่ต่อในอดีตสหภาพโซเวียต ชื่อเรือว่า “วาร์ยัค” แต่สร้างไปได้ 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อปี 2534 การสร้างเรือวาร์ยัคก็หยุดชะงักไป และเนื่องจากอู่ต่อเรือฯ ลำนี้อยู่ในยูเครน กรรมสิทธิ์เรือฯ จึงตกเป็นของยูเครน ต่อมากองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ซื้อมาในมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2541 และนำมาดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงที่อู่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ตั้งแต่ปี 2545

จีนขยายงบประมาณการทหารมหาศาลในปีนี้ (2555) สูงถึง 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราส่วนเพิ่มขึ้น 11.2 เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มชาติตะวันตกว่า จีนปกปิดโครงการด้านความมั่นคง

ตามรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกำลังทุ่มเงินกับการป้องกันภัยทางอากาศ เรือดำน้ำ อาวุธต่อต้านดาวเทียม และขีปนาวุธต่อต้านเรือที่ทันสมัย อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้สามารถต่อต้านการจู่โจมพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ เช่น ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ จีนยังใช้เงินในการป้องกันดินแดนอีกราว 120,000 - 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน เปลี่ยนชื่อจาก วาร์ยัค เป็น เหลียวหนิง และลำเรือหมายเลข 16 ชื่อเรือตั้งขึ้นจากสถานที่ซ่อมแซมปรับปรุงเรือ ซึงอยู่ในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ภาพเมื่อ 24 ก.ย. (ภาพซินหวา)
ประธานาธิบดีหู เดินตรวจแถวทหารเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) บนเรือบรรทุกเครื่องบิน เหลียวหนิง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
หลังเสร็จสิ้นพิธีการ ประธานาธิบดีหู และนายกฯ เวิน เดินสำรวจและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ภายในเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพหวังอี้)
จัง เจิง ผู้บัญชาการเรือบรรทุกเครื่องบิน เหลียวหนิง คนแรก เกิดเมื่อปีพ.ศ.2512 ที่เมืองฉังซิ่งในมณฑลเจ้อเจียง ภาพเมื่อวันที่ 24 ก.ย. (ภาพซินหวา)
ดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบิน คือ อากาศยาน เพื่อปล่อยเครื่องบินรบ ในพิธีการเข้าประจำการเรือฯ อย่างเป็นทางการ เหล่าทหารเรือยืนเตรียมการตามจุดต่างๆ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
ภาพจำลองส่วนประกอบของเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.

กำลังโหลดความคิดเห็น