xs
xsm
sm
md
lg

มะกันแถลง...เปล่ายอมรับว่าเตี้ยวอี๋ว์เป็นของยุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเกาะเล็กเกาะน้อยในหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซนกากุ ในภาษาญี่ปุ่น (เอเยนซีจีน)
ไชน่าเดลี - รายงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่เคยยอมรับอธิปไตยของญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (เลย) สหรัฐฯ ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายความขัดแย้งพิพาทชิงน่านน้ำในทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนและญี่ปุ่น (เลย)

รายงานฯ ดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เนื้อความว่า สหรัฐฯยอมรับเพียงอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่นเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ หลังจากลงนามข้อตกลงแก้ไขโอกินาว่า (Okinawa Reversion Agreement) ในปี 2514 เพียงช่วงเดียวเท่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นดิ่งลึกสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายปี หลังจากญี่ปุ่นทุ่มเงินซื้อเกาะเล็กเกาะน้อยในหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์จากชาวประมงที่อาศัยอยู่เดิม เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสประท้วงต่อต้านการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นทั่วแผ่นดินจีน ผู้ประท้วงชาวจีนเชื่อว่าเกาะนั้นเป็นของจีนมาหลายร้อยปี

ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะยอมรับร่างสัตยาบันสนธิสัญญาฯ หรือไม่ กระทรวงต่างประเทศมะกันก็ชิงออกตัวว่า สหรัฐฯขอเป็นกลางในปัญหาชิงเกาะระหว่างจีนและญี่ปุ่น แม้ว่าในประวัติศาสตร์รัฐบาลสหรัฐฯ เคยคืนเกาะเหล่านี้ให้แก่ญี่ปุ่นไปแล้วก็ตาม

เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ยืนยันว่า การส่งคืนอำนาจการปกครองเกาะให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะของทุกฝ่ายในขณะนี้ รายงานของคณะทำงานระดับมันสมองคองเกรส ด้านการวิจัยนโยบายสาธารณะเผยฯ

นายหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า จีนรับรู้ท่าทีสหรัฐฯที่ต้องการเป็นกลางเรื่องเกาะเตี้ยวอี๋ว์จากรายงาน และจีนหวังว่าสหรัฐฯจะปฏิบัติตามสิ่งที่พูดไว้

นักวิเคราะห์เผยว่า นอกจากรายงานฉบับนี้จะสะท้อนท่าทีของรัฐบาลโอบามาต่อปัญหาพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังถือเป็นความพยายามที่จะลดการขยายตัวของปัญหาตึงเครียด แต่ก็คงไม่อาจทำให้สหรัฐฯ เลิกมีนโยบายที่โน้มเอียงไปทางญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ตาม จากรายงานระบุว่า เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตกอยู่ภายใต้อำนาจการลงนามสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น นับแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขว่า สหรัฐฯมีพันธะที่จะต้องปกป้องอาณาเขตดังกล่าวภายใต้การบริหารงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวฯ สหรัฐฯได้ให้การรับรองความปลอดภัยของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน โดยการได้สิทธิ์นำกองทัพทหาร 50,000 นาย มาตั้งฐานทัพหลายสิบแห่งบนผืนแผ่นดินซากุระ

นายเฟิง เหว่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษาประจำมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเซี่ยงไฮ้เผยว่า "สหรัฐฯ มักจะทำอะไรกำกวมเกี่ยวกับเกาะเตี้ยวอี๋ว์เสมอมา เดี๋ยวก็ว่าสนับสนุนโตเกียวภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงฯ เดี๋ยวก็เตือนญี่ปุ่นว่าอย่าได้ล้ำเส้นจีน หรืออย่าทำให้ปัญหาบานปลายฯ

เฟิง ชี้ว่า ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯได้พยายามทำข้อตกลงประนีประนอมกับจีนในทุกรอบที่เกิดความขัดแย้งกรณีนี้ และสหรัฐฯก็กังวลเป็นพิเศษว่า ปัญหาขัดแย้งอาณาเขตระหว่างจีนและญี่ปุ่นจะกระทบเศรษฐกิจของสหรัฐฯและญี่ปุ่น ในโลกยุคที่สหรัฐฯเชื่อว่าเป็น "ยุคความมั่นคงเอเชียแปซิฟิก"

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นนายโคอิชิโร เกมบะ ได้ส่งข้อเขียนมายังไต้หวันเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการจัดการเจรจากับไต้หวันเรื่องการประมงในทะเลจีนตะวันออก

ทว่าในขณะเดียวกัน เรือบรรทุกอากาศยานเพื่อการจู่โจมของสหรัฐฯ สองลำก็ถูกระดมมายังภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ตั้งแต่กลางเดือนก.ย. เพื่อพยายามจับตาและป้องปรามการซ้อมรบของนาวีจีน ซึ่งถือเป็นการตอบโต้จีนที่ปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกออกสู่ทะเลเมื่อสิ้นเดือนก.ย. สื่อโยมิอูริ ชิมบุนของญี่ปุ่นรายงานเมื่อ 6 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม นายหง เล่ย แถลงข่าวว่า เรือลาดตระเวนทางทะเลของจีน ตลอดจนเรือตรวจการณ์ประมงจีนจะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่ในน่านน้ำใกล้เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของจีนต่อไป

เจ้าหน้าที่ด้านการประมงทางทะเลเผยเมื่อวันเสาร์ว่า เรือตรวจการณ์ประมง 5 ลำลอยลงสู่พื้นที่ในระหว่างวันหยุดวันชาติจีน นับจากวันที่ 30 ก.ย. จนถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจตราตามปรกติ ขณะที่เรือลาดตระเวนทางทะเลของจีน 4 ลำ ก็ล่องมาถึงน่านน้ำดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 2 ต.ค.

"การปกป้องอธิปไตยของชาติและสิทธิทางทะเลตลอดจนผลประโยชน์ของชาวจีน เป็นหน้าที่ของทหารจีน" นายหงกล่าว

นายหงยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ไขการกระทำที่ผิดที่ผ่านมา และหันกลับมาใช้วิธีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้ง โดยให้ยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวและจัดการปัญหากับคู่กรณีอย่างเหมาะสมตามมารยาท

นายไมค์ ฮอนด้า ผู้แทนลูกครึ่งญี่ปุ่นในสภามะกัน เผยทางบล็อกส่วนตัวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ การเลือกข้างไม่ช่วยแก้ปัญหา และอาจทำให้ปัญหาไปสู่จุดที่เรียกว่ารุนแรง หากวิกฤติปะทุขึ้นมาจริง ๆ คงจะได้เห็นการปิดเส้นทางเดินเรือ ปิดโรงงานการผลิต ราคาสินค้าส่งออกพุ่งปรี๊ด และกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างประเทศกันถ้วนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น