ซินหัว - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า ได้หารือกันเมื่อวันศุกร์ (5) ที่เมืองซันหยา มณฑลไหหลำ ทางใต้ของจีน ออกคำแถลงให้คำมั่นที่จะกระตุ้นความร่วมมือรอบด้านระหว่างสองประเทศ
“ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างลึกซึ้ง และบรรลุฉันทมติในวงกว้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศ รวมทั้งประเด็นความสนใจร่วมกันทั้งในระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ” ส่วนหนึ่งในคำแถลงร่วมที่มีขึ้นหลังการหารือ ระบุ
จีนและพม่าจะเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันในเชิงกลยุทธ์ และดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาร่วมกันที่จะอยู่บนฐานที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนสองประเทศ และเพื่อบรรลุความมั่นคง และความรุ่งเรืองที่ยั่งยืนของภูมิภาค
ในระหว่างการหารือ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ยังได้เชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนพม่า และผู้นำของจีนได้กล่าวแสดงความตั้งใจที่จะเยือนพม่าในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก
คำแถลงยังระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะรักษาประเพณีการเยือนในระดับสูง และติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้นำของสองประเทศที่จะช่วยปรับปรุงยุทธศาสตร์การสื่อสารและช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศจะเพิ่มการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นมิตร และความร่วมมือในทุกภาคส่วน รวมทั้งในส่วนของรัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมือง กองทัพ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและพม่า ที่จัดตั้งขึ้่นตั้งแต่ปี 2554
ในคำแถลง ฝ่ายจีนได้ย้ำถึงความเคารพในเอกราช อธิปไตย และดินแดนของพม่า และสนับสนุนรัฐบาลพม่าในความพยายามที่จะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ และความสามัคคีของชาติพันธุ์ และทั้งสองฝ่ายจะยังคงกระชับความร่วมมือในการจัดการพรมแดน การรักษาสันติภาพ และความมั่นคงในพื้นที่บริเวณพรมแดน ขณะเดียวกัน ฝ่ายพม่าได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายจีนเดียว และให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาสันติสุขในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบของจีน
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางการค้า และเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน จัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และมุ่งไปสู่การดำเนินการโครงการความร่วมมือสำคัญ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนของสองประเทศ และเพื่อการพัฒนาประเทศ
จีนและพม่ายังให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานภายในกรอบพหุภาคี ที่รวมทั้งการประชุมอาเซียน+1 อาเซียน+3 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก การประชุมกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และสหประชาชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาของภูมิภาค.