xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยสื่อจีน : The CHINANET

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ไมเคิล อันติ (Michael Anti) หรือ เจ้า จิ้ง สื่อมวลชนและบล็อกเกอร์หนุ่มวัย 38 ปีชาวจีน ระหว่างขึ้นเวที TED ที่เอดินเบอระ ประเทศสก็อตแลนด์ เพื่อพูดในหัวข้อ หลังกำแพงไฟอันยิ่งใหญ่ของจีน บอกเล่าถึงสถานการณ์ของ “สื่อใหม่” และ “สื่ออินเทอร์เน็ต” ในประเทศจีนในปัจจุบัน
“ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมทำการทดลองอย่างหนึ่งคือ หอบหนังสือพิมพ์กลับไปบ้านทุกวัน แล้ววางทิ้งไว้ที่โต๊ะรับแขกในบ้าน ผมต้องการจะทดสอบว่าลูกสาวของผมที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยจะหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านบ้างไหม สิ่งที่ผมพบในห้วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก็คือ ลูกสาวของผมแทบจะไม่หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านเลย ยกเว้นว่าผมจะแนะนำข่าว รายงานหรือบทความบางชิ้นในหนังสือพิมพ์ให้เขาอ่านเขาถึงจะหยิบมาอ่าน” คุณอัน เหว่ย หัวหน้ากองอำนวยการ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวันเล่าให้ผมฟัง

ทุกวันนี้คนจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเมืองและมณฑลติดทะเลทางทิศตะวันออกของประเทศที่การพัฒนาเศรษฐกิจดีกว่า อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงๆ ทุกที ทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์น้อยลงเป็นเงาตามตัว ขณะที่ “สื่อใหม่” ที่คนจีนรุ่นใหม่เสพ หรือใช้ค้นหาข้อมูลแทน หนังสือ นิตยสารและหนังสือพิมพ์ก็คือ “อินเทอร์เน็ต”

ณ เดือนสิงหาคม 2555 มีรายงานว่า ประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนมีมากถึง 538 ล้านคน เรียกได้มากกว่าประชากรของทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศบราซิลรวมกันเสียอีก โดยสหรัฐฯ เป็นที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก ราว 315 ล้านคน ส่วนบราซิลมีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ราว 195 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัดส่วนประชากรในจีนก็เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 39.9 เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ที่ตัวเลขเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 77.3 [1]

กระนั้น “อินเทอร์เน็ต” หรือ “ฮู่เหลียนหว่าง (互联网)” หรือ “อินเท่อหว่าง (因特网)” ในความหมายของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่กับ อินเทอร์เน็ตในความหมายของชาวโลกก็มีความแตกต่างกันในระดับหนึ่ง

กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณอยู่เมืองจีน เว็บไซต์ และบริการผ่านเว็บ (Web Services) ต่างๆ ที่คุณคุ้นเคยจะกลายเป็นมีข้อจำกัด ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือ ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ไม่สามารถค้นหาข้อมูลจากกูเกิลได้อย่างเต็มความสามารถ, ดูคลิปยูทิวบ์ก็ดูได้แบบกะปริบกะปรอย,ไม่สามารถอ่านข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีได้, ไม่สามารถใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเฟซบุ๊กได้, ไม่สามารถใช้ไมโครบล็อกอย่างทวิตเตอร์ได้ ฯลฯ

ไมเคิล อันติ (Michael Anti) นามแฝงของ เจ้า จิ้ง (赵静) สื่อมวลชนและบล็อกเกอร์หนุ่มชาวจีน ที่มีชื่อเสียงระบือโลกในปี 2548 เมื่อไมโครซอฟท์ลบบล็อกของเขาใน Windows Live Space ด้วยสาเหตุที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศจีน

เดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ไมเคิล อันติ ได้ขึ้นเวที TED Talks โดย TED (ย่อมาจาก Technology, Entertainment, Design) เวทีแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งจัดโดยมูลนิธิแซปลิง (Sapling) องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อการเผยแพร่ความคิดในการพัฒนาของโลกที่เอดินเบอระ ประเทศสก็อตแลนด์ และพูดในหัวข้อ หลังกำแพงไฟอันยิ่งใหญ่ของจีน (Behind the Great Firewall of China) บอกเล่าถึงสถานการณ์ของ “สื่อใหม่” และ “สื่ออินเทอร์เน็ต” ในประเทศจีนในปัจจุบัน [2]

อันติบอกว่า นอกจากจีนจะอยู่ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) หรือกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว อันประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ยังมีคนบอกว่าจีนเป็นประเทศที่อยู่ใน กลุ่มซิก (SICK) ซึ่งประกอบไปด้วย ซีเรีย อิหร่าน จีน และเกาหลีเหนือ อีกด้วย โดย 4 ประเทศนี้เป็น 4 ประเทศที่เข้าไม่ถึงบริการของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง “เฟซบุ๊ก”

“คำว่าอินเทอร์เน็ตนั้นในความหมายของคนจีนจึงมีอยู่ 2 อินเทอร์เน็ต หนึ่ง คือ อินเทอร์เน็ตจริงๆ และอีกอันหนึ่งคือ ไชน่าเน็ต (Chinanet) แต่ถ้าคุณคิดว่าไชน่าเน็ตนั้นเป็นแดนเถื่อน หรือ ดินแดนที่รกร้างว่างเปล่า ความคิดนั้นผมว่าเป็นสิ่งที่ผิด ... แม้ว่าจีนจะเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตทั้งหมด แต่สังคมอินเทอร์เน็ตของจีนก็ยังเติบโตอย่างมาก คนอาจสงสัยว่าเราทำได้อย่างไร? คำตอบนั้นง่ายนิดเดียว คุณมีกูเกิล (Google) เราก็มี ไป่ตู้ (Baidu), คุณมีทวิตเตอร์ (Twitter) เราก็มีเวยป๋อ (Weibo), คุณมีเฟซบุ๊ก เราก็มีเหรินเหริน (Renren), คุณมียูทิวบ์ (Youtube) เราก็มีโยวคู่ (Youku) และ ถู่โต้ว (Tudou) แม้รัฐบาลจีนจะบล็อกบริการเว็บ 2.0 จากต่างประเทศทั้งหมด แต่คนจีนก็ยังอยู่ได้เพราะเราก็อปปี้มันหมดทุกอย่าง” บล็อกเกอร์หนุ่มชาวจีน กล่าวถึงผลกระทบจากการสร้าง กำแพงไฟอันยิ่งใหญ่ (The Great Firewall) ซึ่งเป็นคำล้อเลียน กำแพงเมืองจีน (The Great Wall) สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในอดีต

อันติระบุด้วยว่า วิธีการกีดกันและโคลน (Block and Clone) ของรัฐบาลจีนวิธีนี้เขาเรียกว่าเป็น วิธีการเซ็นเซอร์อย่างชาญฉลาด (Smart Censorship) ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ผู้ปกครองในประเทศเผด็จการในตะวันออกกลางไม่เข้าใจจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ การปฏิวัติด้วยการลุกฮือขึ้นของประชาชนในโลกอาหรับ หรือ อาหรับสปริง (Arab Spring)

“อาหรับสปริง” บ่งชี้ให้เห็น ความผิดพลาดในการจัดการกับโลกอินเทอร์เน็ตแบบสุดขั้ว 2 แบบด้วยกัน คือ ด้านหนึ่งขณะที่ ฮอสนี มูบารัก อดีตผู้นำอียิปต์ใช้วิธีการบล็อกอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เขาทางอินเทอร์เน็ต แต่วิธีการบล็อกเช่นนี้กลับทำให้ประชาชนปิดคอมพิวเตอร์ และเดินออกมาประท้วงบนท้องถนนแทน ในทางตรงกันข้ามอีกด้านหนึ่ง เบน อาลี อดีตผู้นำตูนิเซียกลับดูแคลนศักยภาพของเฟซบุ๊ก และเปิดให้ประชาชนชาวตูนิเซียสามารถใช้งานเฟซบุ๊กได้อย่างเสรี จนในที่สุด “การปฏิวัติตูนิเซีย” เพื่อโค่นล้มผู้นำเผด็จการในตะวันออกกลางก็ประสบความสำเร็จเป็นประเทศแรก เมื่อเบน อาลี และครอบครัวหลบหนีไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 ก่อนจะถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในตูนิเซีย

ทว่า ด้วย “การเซ็นเซอร์อย่างชาญฉลาด” ในประเทศจีนแม้จะไม่ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้น หรือการปฏิวัติอย่างปุบปับฉับพลันอย่างเช่นในตะวันออกกลาง แต่สภาพแวดล้อมใน “ไชน่าเน็ต” ก็เปลี่ยนแปลงสภาพสังคม ภูมิทัศน์สื่อและภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศจีนไปอย่างมากมายมหาศาล

กล่าวให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีกก็คือ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกกว่า “เวยป๋อ (微博)” หรือ ไมโครบล็อก (Microblog) ในภาษาจีนได้เพิ่มช่องทางในการสื่อสารและการแสดงออกให้กับประชาชน และสามัญชนคนธรรมดาในประเทศจีนให้สามารถเล็ดลอด การเซ็นเซอร์และการมอนิเตอร์อันเข้มงวดของรัฐบาลจีนได้ในระดับหนึ่ง

“ในปี 2552 (ค.ศ.2009) เมื่อเวยป๋อเริ่มเป็นที่รู้จักในเมืองจีน มันก็กลายเป็นแพลตฟอร์มสื่อ (Media Platform) ในตัวมันเอง และมันได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสื่อของผู้อ่าน 300 ล้านคน ในประเทศจีน ... เรื่องราวหรือโศกนาฏกรรมที่คุณเขียนในเวยป๋อ มีโอกาสที่จะถูกหยิบโดยผู้สื่อข่าว นักวิชาการ หรือ ดาราผู้มีชี่อเสียงในสังคมจีนสักคนตลอดเวลา หนึ่งในชาวจีนที่ไมโครบล็อกได้รับความนิยมมากที่สุดคือ เหยา เฉิน (姚晨) ดาราสาวผู้นี้มีผู้ติดตามข้อความของเธอมากถึง 21 ล้านคน โดยจำนวนขนาดนี้เรียกได้ว่ามีผู้ติดตามเทียบเท่ากับสถานีโทรทัศน์ระดับชาติเลยทีเดียว” อันติกล่าว

เขากล่าวยืนยันด้วยว่า กำแพงไฟอันยิ่งใหญ่ หรือ The Great Firewall ที่สร้างโดยรัฐบาลจีนก็ยังคงทำงานอยู่ ระบบเซ็นเซอร์ก็ยังครอบคลุมไปถึงเนื้อหาบน “เวยป๋อ” ยกตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องยากที่คนจีนจะโพสต์ชื่อผู้นำอย่าง ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา หรือ ค้นหาชื่อผู้นำระดับสูงเจอในเวยป๋อ นอกจากนี้ การที่เรื่องอื้อฉาวบางเรื่องในแวดวงการเมืองจีนอย่างเช่นกรณีข่าวจริงและข่าวลือของ ป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่งและอดีตผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเล็ดลอดสู่สายตาประชาชนผ่านทางเวยป๋อได้นั้น ก็เพราะหน่วยงานเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีนยังคงเป็นผู้กุมกุญแจในการ เปิด-ปิด ประตูข้อมูลข่าวสารที่ไหลเข้าและไหลออกในเวยป๋ออยู่

เมื่อเร็วๆ นี้ มิตรชาวจีนของผมผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงแฟชั่นของจีนเล่าให้ฟังว่า วิธีการหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของรัฐนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้คำแสลงแทนคำจริง, การใช้วิธีการพิมพ์แล้วแปลงเป็นภาพ แทนที่จะส่งเป็นตัวอักษร (Text) ฯลฯ ขณะที่ทุกวันนี้คนจีนโดยเฉพาะชนชั้นกลางให้ความเชื่อถือข่าวสารจากสื่อหลัก (Mainstream Media) โดยเฉพาะสื่อของภาครัฐลดลงมาก แต่กลับให้ความเชื่อถือข้อมูลในสื่อทางเลือกอย่าง “เวยป๋อ” มากกว่า เขากล่าวด้วยว่าสิ่งที่อยู่ใน “หนังสือพิมพ์-โทรทัศน์” น่ะเป็นเรื่องหลอก แต่สิ่งที่อยู่ใน “เวยป๋อ” น่ะเป็นเรื่องจริง !

อินเทอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ก และไมโครบล็อกอย่าง “เวยป๋อ” กำลังปฏิวัติประเทศจีนอยู่ครับ แม้จะไม่รวดเร็วอย่างการปฏิวัติอาหรับ สปริง ในตะวันออกกลาง แต่ผมเชื่อว่าเป็นการปฏิวัติอย่างช้าๆ และซึมลึก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคต


Michael Anti: Behind the Great Firewall of China (ภาษาอังกฤษ)

หมายเหตุ :
[1] China's "Internet" Population Is Larger Than the Population of the U.S. and Brazil Combined -- Penetration Rate Only 39.9%, Yahoo Finance, 28 Aug 2012.
[2] Michael Anti: Behind the Great Firewall of China, www.ted.com, July 2012.

ผู้โดยสารชาวจีนกำลังง่วนอยู่กับการติดตามข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบินนานาชาติ กรุงปักกิ่ง

เหยา เฉิน (Yao Chen) ดาราสาววัย 33 ปีชาวจีน ผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจีน เนื่องจาก “เวยป๋อ” หรือไมโครบล็อกของเธอมีผู้ติดตามมากที่สุดกว่า 21 ล้านคน จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีเวยป๋อ”
กำลังโหลดความคิดเห็น