xs
xsm
sm
md
lg

เกมแมวไล่จับหนู ... หนูดื้อกระโดดข้าม “มหากำแพงไฟ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีเอ็นเอ็น -ว่ากันว่าการเซ็นเซอร์คือวิถีชีวิตในสังคมจีนมานานกว่า 60 ปีแล้ว
 ดังนั้น การพยายามสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตสำหรับเรื่องราว ที่รัฐบาลปักกิ่งเห็นว่าเป็นภัยแก่ความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องเสื่อมเสียวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์กันหน่อย

วันนี้ผู้ใช้เว็บไมโครบล็อกของจีนจึงมีช่องทางซิกแซก เจาะระบบป้องกันการเข้าถึงข้อมูล หรือไฟร์วอลล์ของจีน (Great Firewall of China) ได้อย่างสบาย ๆ

หากคุณต้องการทราบข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมือง ที่รัฐบาลจีนไม่ปรารถนาจะให้ประชาชนของตนได้รับรู้อย่างเรื่องการลุกฮือของพลังประชาชนโค่นล้มอำนาจผู้นำอียิปต์ หรือประเด็นเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วพิมพ์คำว่า “Egypt” , “Tiananmen” หรือ “ June 4th , 1989” เข้าไปในไซต์ไมโครบล็อกของจีนไซต์ใดก็ตาม รับรองว่าแห้ว เพราะผลการค้นหาจะมีข้อความตอบกลับมาว่า

“ไม่แสดงผลการค้นหาภายใต้การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง”

เกมแมววิ่งไล่จับหนูจึงเกิดขึ้น แต่คราวนี้ หนูตัวเก่งสามารถกระโดนแผล็วข้ามกำแพงไฟมหึมาไปได้

หากผู้ใช้ไมโครบล็อกพิมพ์รหัสว่า “8X8” ซึ่งหมายถึง 64 หรือ 6/4 ซึ่งก็คือ June 4th วันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่กองทัพจีนปราบปรามนองเลือดนักศึกษาประชาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตย คุณก็อาจเล็ดลอดเข้าไปแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยได้อย่างไม่น่าเชื่อในเครือข่ายสังคมออนไลน์

การพิมพ์คำว่า “the Pharaoh nation” แทนคำว่า “Egypt” หรือหากสะกดคำว่า “democracy” ผิด เป็น “democrasy” หรือ “democrazy” หรือแม้แต่การสแกนข้อความที่เขียนแสดงความคิดเห็น แล้วโพสต์เป็นไฟล์อิมเมจ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ผู้ใช้ไมโครบล็อกสามารถหลอกลวงผู้คุมการเซ็นเซอร์ ที่ยึดคีย์เวิร์ดในการตรวจสอบในเว็บไมโครบล็อกหลัก ๆ ของจีน เช่น เหรินเหริน (Renren) หรือ ซีน่า เวยปั๋ว (Sina Weibo)

บางคนก็นำคำแสลงตามท้องถนนมาผสมผสานกัน หรือใช้ภาษาถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ถึง 45 ภาษา มาปิดบังคำสนทนา

“เราน่าจะทำมันได้ (โค่นล้มรัฐบาล) เมื่อ 22 ปีก่อน แต่สุดท้ายเราก็ล้มเหลว” ผู้ใช้ไมโครบล็อกจากเมืองก่วงโจวรายหนึ่งคร่ำครวญในเว็บไซต์ Sina Weibo โดยเปรียบเทียบการประท้วงในอียิปต์กับเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532

“ตอนนี้เราได้แต่มองความสุขของคนอื่นตาปริบ ๆ และฝันถึงความสุขของเราบ้าง” เขาระบายความรู้สึก

ต่อมาไมไครบล็อกเกอร์รายนี้ยังส่งข้อความมาอีกว่า

“แม้ว่าเขา (อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก) ถูกบังคับให้ลาออก แต่เขาก็ยังคู่ควรได้รับการเคารพบ้าง ที่นี่ (จีน) ไม่มีอะไรจบลงโดยปราศจากการใช้กำลัง หรือการเข่นฆ่าผู้คน”

การสื่อสารออนไลน์ผ่านเว็บไมโครบล็อกกำลังฮิตกันบนแดนมังกร เพื่อรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่น การดำเนินคดีความในศาล ที่มีเงื่อนงำน่าสงสัย การตามหาเด็ก ที่ถูกลักพาตัว และชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ขณะที่เว็บสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์เป็นสิ่งต้องห้ามในจีน ส่วนเว็บสังคมออนไลน์ของจีน เช่น เหรินเหรินก็ว่าจ้างผู้ควบคุมการเซ็นเซอร์มากถึง 500 คน

อย่างไรก็ตาม นายกัง ลู่ ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งมองว่า หากเทียบกับ 2 ปีก่อน ขณะนี้รัฐบาลจีนผ่อนคลายความเข้มงวดกว่าเดิมมาก ขณะที่การแสดงความคิดเห็นในแง่ลบต่อรัฐบาลตามเว็บไมโครบล็อกก็มีเยอะขึ้น

สัญญาณทีดีอีกประการหนึ่งตามความเห็นของนายกังก็คือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีน ตั้งแต่ตำรวจ ไปจนถึงนายกเทศมนตรีท้องถิ่น แม้กระทั่งประธานาธิบดีหู จิ่นเทาเอง ตอนนี้มีไมโครบล็อกของตัวเองกันทั้งนั้น

“มันอาจเป็นแค่การโชว์ แต่ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี” นายกังระบุ

“มันแสดงว่า อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็เตรียมตัว ที่จะรับฟัง และกำลังโต้ตอบปรากฎการณ์การสื่อสารผ่านเว็บไมโครบล็อกอยู่ในขณะนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น