เอเอฟพี - ยอดขายสินค้าออนไลน์ในจีนปี 2553 เพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ เหล่าผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคาต่างหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์ซึ่งมีราคาถูกกว่า ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งสูง
ศูนย์วิจัยไชน่า อี-บิซสิเนส เผยข้อมูลเมื่อวันอังคาร(18 ม.ค.) ว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ที่ครอบคลุมทั้งแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ (บีทูบี) ธุรกิจสู่ผู้บริโภค (บีทูซี) และผู้บริโภคสู่ผู้บริโภค (ซีทูซี) ในปีที่ผ่านมา(2553) เพิ่มขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 4.5 ล้านล้านหยวน(684,000 ล้านดอลลาร์)
ในปีที่ผ่านมา(2553)มีผู้ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เท่ากับ 158 ล้านคน เทียบกับ 121 ล้านคนในปี2552 เนื่องจากสินค้าที่เสนอขายในโลกออนไลน์มีราคาถูกกว่า ประกอบกับความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นในด้านความปลอดภัยของระบบการชำระเงินออนไลน์ ขณะที่ บรรดาบริษัทต่างๆเปิดร้านขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านสินค้าและบริการ
รายงานระบุ ยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านออนไลน์จีนในปี2553 เท่ากับ 513,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2552 โดยคิดเป็นเพียงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของยอดการค้าปลีกทั้งหมด
เหยา เจียน โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนเผย(18ม.ค.) ว่า ปีที่ผ่านมา(2553) ยอดค้าปลีกของจีนมีแนวโน้มแตะระดับ 15 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยจะมีการเผยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในวันพฤหัส(20 ม.ค.)
จำนวนเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในจีนจนถึงช่วงสิ้นปี 2553 มี 25,000 เว็บไซต์ เทียบกับ 20,700 เว็บไซต์ ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.ปีเดียวกัน นอกจากนี้ แบรนด์ดังอย่าง อาดิดาส ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์กีฬา แก็ป ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่สัญชาติมะกันและวอลมาร์ท ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกมะกัน ก็เข้ามาเปิดตลาดขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตในจีน อันแสดงถึงความร้อนแรงของตลาดอี-คอมเมิร์ชจีน
ขณะที่ ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศจีน(China Internet Network Information Center) เผยวันพุธ(19 ม.ค.) ว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนปี 2553 เพิ่มอีก 73.3 ล้านคน รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 457 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี2552 คิดเป็น19.1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีจำนวนผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเข้าสู่โลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 303 ล้านคน
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนกังวลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ด้วยว่าสื่อออนไลน์อาจเป็นเครื่องมือจุดชนวนความวุ่นวายในสังคม และช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จีนได้มีการเร่งตรวจตราอย่างหนัก โดยข้อมูลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ จะถูกสกัดและควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยระบบคัดกรองข่าวสารข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า “กำแพงไฟใหญ่” (Great Firewall-GFW)