เอเอฟพี - ญี่ปุ่นประท้วงจีนเมื่อวันพุธ (11 ก.ค.) กรณีปัญหาพิพาทที่ปะทุขึ้นมาอีกเหนือหมู่เกาะที่ต่างฝ่ายต่างก็ช่วงชิงเป็นเจ้าของ ญี่ปุ่นบอกว่าจีนรุกเข้าไปในพื้นที่เกาะร้างที่ญี่ปุ่นมีอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าวอย่างไม่ต้องเถียง
เรือลาดตระเวนจีน 3 ลำล่องแล่นเข้าไปยังเกาะดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นอ้างสิทธิ์ว่าเป็นของตนบริเวณทะเลจีนตะวันออกเมื่อเช้าวันพุธ (11 ก.ค.) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นนายโคอิชิโร เกมบะ ถึงกับบ่นกับผู้แทนจีนที่เดินทางไปประชุมสุดยอดความมั่นคงอาเซียนที่กัมพูชาเกี่ยวกับเรื่องนี้
"เกมบะขอทำการประท้วงต่อรัฐบาลจีนอย่างจริงจังต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเช้านี้" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศหญิงของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีในกรุงพนมเปญ
ลูกเรือจีนปฏิเสธคำสั่งของญี่ปุ่นที่สั่งให้ออกจากบริเวณดังกล่าวในทันที แม้ว่าต่อมาจะยอมออกก็ตาม "พวกเราส่งคนออกไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณน่านน้ำจีน ไม่ได้แทรกแซงญี่ปุ่น และไม่ได้ออกพ้นไปจากน่านน้ำจีนเลย" ยามฝั่งญี่ปุ่นเล่าคำพูดของลูกเรือจีน
เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงโตเกียวถูกเรียกประชุมด่วนเกี่ยวเรื่องปัญหาการละเมิดดังกล่าวฯ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนก็เผยว่า "ไม่ยอมรับสิ่งที่ญี่ปุ่นยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตน"
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนนายหยัง เจี๋ยฉือ ปะทะคารมกับเกมบะ ว่า เกาะดังกล่าวชาวจีนเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์ ญี่ปุ่นเรียกเซนกากุ เป็นพื้นที่ของจีนนับแต่สมัยอดีต ซึ่งถือเป็นอำนาจของจีนที่จะต้องจัดการดูแลอย่างไม่ต้องโต้แย้งแต่ประการใด
พื้นที่เกาะเหล่านี้มีปลาหลากหลายชนิด เป็นแหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ และยังเชื่อว่าเป็นขุมแร่ธาตุอันเป็นประโยชน์มหาศาล ญี่ปุ่นเชื่อว่าการมีคนญี่ปุ่นตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่บนเกาะจะทำให้เกาะเป็นของญี่ปุ่น รัฐบาลเมืองญี่ปุ่นจึงวางแผนซื้อเกาะดังกล่าวจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่มาเป็นของตน
เพียงไม่นานจีนก็ปะทะกับเพื่อนบ้านเป็นครั้งที่ 3 กรณีปัญหาพิพาทเรื่องอาณาเขตน่านน้ำ ซึ่งปัญหานี้ได้ทอดเงาไปสู่การประชมสุดยอดความมั่นคงอาเซียนที่กรุงพนมเปญในสัปดาห์นี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า "ดูเหมือนว่าเขา (จีน) จะก้าวร้าวขึ้นทุกวัน"
"ความขัดแย้งล่าสุดนี้ก็ทำให้ทุกท่านแปลกใจแล้ว" โรซาริโอกล่าว
สมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนพยายามหาหนทางคลี่คลายปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาพื้นที่ที่หลายฝ่ายอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ฟิลิปปินส์เป็นแกนนำผลักดันให้ชาติอาเซียนผนึกกำลังออกมาตรการที่อยู่บนหลักกฎหมายทางทะเลสากลของสหประชาชาติ แต่ดูเหมือนปักกิ่งจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้
นอกจากนั้นมะนิลายังต้องการให้อาเซียนประณามการเผชิญหน้าระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เหนือหมู่เกาะสกาโบโรห์โชล หรือหวงเหยียนเต่า ในทะเลจีนใต้ ที่ผ่านมาด้วย
ในทะเลจีนใต้ยังเคยมีปัญหาเรือจีนล่องมาสำรวจน้ำมันในน่านน้ำที่เวียดนามอ้างว่าเป็นของตน กลายเกิดเป็นการประท้วงครั้งใหญ่บนท้องถนนในกรุงฮานอย
การรุกคืบของจีนเข้าสู่น่านน้ำทะเลจีนใต้นั้น นักวิเคราะห์มองว่ายิ่งเป็นการผลักให้ประเทศเพื่อนบ้านหันไปคบสหรัฐอเมริกามากขึ้น
นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเดินทางมาถึงกัมพูชาเพื่อแสดงความสนิทชิดเชื้อผูกสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ในการนำอิทธิพลของตนเข้าสู่เอเชียเพื่อสกัดจีน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯคนหนึ่งเผยว่า เรื่องความขัดแย้งกับญี่ปุ่นจะเป็นประเด็นสนทนาระหว่างนางคลินตัน กับหยัง เจี๋ยฉือรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในการพบปะวันพฤหัส (12 ก.ค.)
ทั้งนี้ในการเจรจา นายหยังแสดงท่าทีว่าสหรัฐฯควรเคารพผลประโยชน์ของจีน และตระหนักถือประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกด้วย ผลประโยชน์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ควรจะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนางคลินตันก็ชี้ว่า สหรัฐฯจะพัฒนาและร่วมมือตลอดจนทำความเข้าใจในเชิงบวกกับจีน พร้อมชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสัมพันธ์ดีกับจีน