รอยเตอร์ - ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคของจีนในเดือนมิ.ย.ลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ สถิติรัฐบาลจีนเผย (9 ก.ค.) เงินเฟ้อส่งสัญญาณลดฮวบ หลังความต้องการบริโภคสินค้าลดลง มหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับสองของโลกอย่างจีนคงต้องขยับมาตรการออกนโยบายดันการเติบโตให้ยิ่งยวดขึ้น
ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ปรอทชี้วัดเงินเฟ้อของจีนลดลงมาต่ำสุดในรอบ 29 เดือน อยู่ที่เพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับในเดือนพ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า ซีพีไอเดือนต่อเดือนของจีนตกลงมาถึง 0.6 เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าคาดการณ์ถึง 2 เท่า
ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (พีพีไอ) ลดลงอย่างรวดเร็วตกลงมา 0.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนที่ผ่านมา และ 2.1 เปอร์เซ็นต์ทั้งปี ชี้ชัดว่าเป็นภาวะเงินฝืดต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 การผลิตสินค้าจากอุตสาหกรรมโรงงานตกต่ำ ทำให้ค่าพีพีไอของจีนไหลต่ำลงเป็นเดือนที่ 31
“ตัวเลขพีพีไอของจีนเดือนที่ผ่านมา ก็ชี้แล้วว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวลง ซึ่งหมายความว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมตลอดจนตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะไม่สามารถขยับขึ้นได้เลย” หวัง จิน นักวิเคราะห์จากบริษัทกั๋วไท่จี้ว์หนานแห่งเซี่ยงไฮ้กล่าว
เศรษฐกิจจีนชอกช้ำจากภาวะเงินฝืดในระยะสั้น ๆ ช่วงเดือนก.พ. ถึง ต.ค. เมื่อปี 2552 โดยสิ้นปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือซีพีไอได้ตกลงมาถึง 0.7 เปอร์เซ็นต์
ในช่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งดูจากจีดีพีรายปีของจีน ลดลงมาต่ำสุดในรอบ 8 ปี อยู่ที่เพียง 6.6 เปอร์เซ็นต์ใน 3 เดือนแรกของปี 2552 ขณะนั้นก็เป็นช่วงที่จีนตกอยู่ในสภาวะเงินฝืด ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนั้นถือว่าช้าสุดนับแต่ปี 2545 แม้ว่าท้ายที่สุดจะขยับขึ้นมาโตทั้งปีที่ 9.2 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
“เงินเฟ้อไม่ใช่ภัยคุกคามจีนอีกต่อไป อันที่จริงพวกเราคาดว่าซีพีไอเดือนก.ค.จะน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ เดือนส.ค.และก.ย.ต่างหากที่จะเป็นเดือนสำคัญในการติดตามภาพรวมของเงินเฟ้อ” ตงหมิง เสีย นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโอซีบีซีในสิงคโปร์เผย
“หากราคาทั้งหลายลดลงเร็วเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดเร็วขึ้น จีนก็จะต้องมาตัดลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาอีก”
ทั้งนี้ ไตรมาสแรกในปีนี้ จีดีพีจีนขยายตัวอยู่ที่ 8.1 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา