ไชน่าเดลี่ - นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่า ในการประชุมสุดยอดผุ้นำกลุ่มชาติอุตสาหรรมชั้นนำและชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ หรือ จี-20 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลอสกาบอส ประเทศเม็กซิโกระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. นี้ จีนจะออกมาร่วมรับผิดชอบ โดยอัดฉีดเงินช่วยเหลือ เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตหนี้ในยุโรปตามความต้องการของบรรดาผู้นำชาติจี 20 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า พญามังกรต้องมีข้อแม้ ก่อนควักกระเป๋าจ่ายอย่างแน่นอน
ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว จีนและชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ไม่ต้องการให้เป็นเวทีหารือเฉพาะเรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มชาติผู้ใช้เงินสกุลยุโร หรือยูโรโซนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีการหารือกันในประเด็นการเปิดโอกาสให้ชาติกำลังพัฒนาได้มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ หลังจากคณะผู้บริหารไอเอ็มเอฟได้อนุมัติแผนปฏิรูปสัดส่วนการลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของไอเอ็มเอฟไปแล้วเมื่อปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม เนื่องจากบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยังไม่ให้การรับรองแผนปฏิรูปนี้
ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของจีนให้สัมภาษณ์รีฟอร์มา (Reforma) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเม็กซิโก ก่อนการเข้าร่วมการประชุมสุดยอด โดยเรียกร้องให้ชาติสมาชิกจี 20 เดินหน้าปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ และเร่งดำเนินการเพื่อประสบเป้าหมายของแผนปฏิรูปสัดส่วนการลงคะแนนของไอเอ็มเอฟโดยเร็ว
นายติง ชุน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุโรปของมหาวิทยาลัยฝู้ตันระบุว่า จีนจะยังคงช่วยเหลือยุโรปต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เงินดอลลาร์มีบทบาทครอบงำเพียงสกุลเดียว อีกทั้งการล้มสลายของเศรษฐกิจยุโรปจะก่อความเสียหายอย่างหนักแก่การค้าแดนมังกร อย่างไรก็ตาม
การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของจีนจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่ว่า จีนได้มีสิทธิ์มีเสียงในไอเอ็มเอฟมากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ช่วยสนับสนุนยุโรปหลายวิธี เช่น การเข้าซื้อพันธบัตร การให้เงินเข้ากองทุนสร้างเสถียรภาพการเงินของยุโรป และจัดสรรเงินทุนให้ไอเอ็มเอฟ
ขณะที่นายติง อี้ฟาน นักวิจัยของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาลจีนมองว่า จีนจะไม่ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าสำหรับการช่วยเหลือยุโรป และรัฐบาลปักกิ่งตระหนักดีว่า การดำเนินการปฏิรูปสัดส่วนการออกเสียงในไอเอ็มเอฟต้องใช้เวลา อีกทั้งรัฐบาลปักกิ่งกำลังมุ่งให้ความร่วมมือกับกลุ่มชาติจี 20 ในนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อแก้ไขวิกฤตหนี้ในยุโรปมากกว่า
ด้านนายติง ชุน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุโรปของมหาวิทยาลัยฝู้ตันยังเชื่อว่า การเป็นหัวหอกให้กับชาติกำลังพัฒนาของจีนน่าจะถูกต่อต้านจากชาติอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างแน่นอน
" แม้สหรัฐฯไม่ต้องการให้ยุโรปล่มสลาย แต่สหรัฐฯ ก็จะไม่ยอมยกเลิกบทบาทผู้นำของตนในไอเอ็มเอฟ เพียงเพื่อได้รับเงินช่วยเหลือจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นแน่" เขาระบุ