xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅนักเรียนชายจีนจะสู้นักเรียนหญิงไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: ชัยพร พยาครุฑ

ตัวอย่างภาพบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน มหานครเซี่ยงไฮ้ (ภาพเอเยนซี)
นิวยอร์กไทมส์ - นายวัน จงหนี เป็นนักเรียนมัธยมชายวัย 16 ปี รูปร่างผอมสูง

เขารู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างได้ขาดหายไปจากชีวิตเด็กผู้ชาย วันเชื่อว่าระบบการศึกษาของจีนกร่อนกินความเป็นชายของเขาและเพื่อน ๆ อีกนับไม่ถ้วน

วันไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเวลาเล่นอย่างที่เด็กผู้ชายส่วนใหญ่พึงจะเป็น เช่น กีฬา วีดีโอเกม หรือแม้แต่การโดดเรียน เพราะว่าโดยระบบแล้วเขาถูกบังคับเรียนอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อวันและแทบทุกวัน เขากับเพื่อนกลุ่มผู้ชายที่ตกชะตากรรมเดียวกันกำลังไมพอใจระบบการศึกษา และพาลเกลียดเพื่อนนักเรียนหญิงไปด้วย วันบอกว่า “นักเรียนหญิงพวกนี้ฉลาดกว่า และมักจะเป็นที่โปรดปรานของครูบาอาจารย์”

“เมื่อผมไปโรงเรียนผมรู้สึกว่าครูมักจะให้กำลังใจแต่นักเรียนหญิง ครูบอกว่านักเรียนหญิงตั้งใจเรียนมากกว่า มีผลการเรียนที่ดีกว่า นักเรียนชายเอาแต่ซุกซนส่งเสียงดัง เป็นตัวก่อปัญหา ที่สุดแล้วครูก็คิดแต่จะปราบนักเรียนชาย”

นักวิชาการด้านการศึกษาเผยว่า ช่องโหว่ทางวิชาการระหว่างนักเรียนชายและหญิงในจีนกำลังปรากฏชัดกำลังถ่างกว้างขึ้นไปทุกที

หนังสือ “ช่วยนักเรียนชาย” (Saving the Boys) ของนักวิจัยแห่งสมาคมวิจัยเยาวชนและเด็กของจีนเผยว่า ในการสอบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนหญิงของจีนทำผลงานได้โดดเด่นกว่านักเรียนชาย ในเชิงปริมาณที่ได้เข้าเรียนและทุนการศึกษาที่ได้รับ ในปี 2549-2550 จากจำนวนทุนการศึกษาของรัฐบาลจำนวน 50,000 ทุน ผู้ได้รับทุนเป็นนักเรียนชายเพียง 17,458 ทุน เท่านั้น
นักเรียนชายหลายคนถูกระบบการศึกษาบังคับคนพฤติกรรมความเป็นชายลดลง สับสน (ภาพซั่งไห่อิสต์)
นอกจากนั้น ผลการสำรวจนักเรียนมัธยมฉงชิ่งจำนวน 6,539 คน นักเรียนหญิงมีคะแนนด้านวรรณคดี ภาษาอังกฤษ การเมือง คณิตศาสตร์และชีววิทยาดีกว่านักเรียนชาย จากคำบอกเล่าของคณะกรรมการผู้รับนักศึกษาเข้าเรียนต่อในกรุงปักกิ่ง เผยว่า นักเรียนที่ได้รับจดหมายแนะนำให้เข้าศึกษาต่อนั้นเป็นหญิงมากกว่าชายเท่าตัวทีเดียว ขณะเดียวกันสำนักงานการศึกษาของมณฑลเจ้อเจียงก็ระบุว่า นักเรียนชายในวัยประถมศึกษากว่ า60 เปอร์เซ็นต์คิดว่านักเรียนหญิงฉลาดกว่าตนเอง

Gerard A. Postiglione ผู้อำนวยการศูนวิจัยการศึกษาหวาชิง มหาวิทยาลัยฮ่องกง เผยว่า “การศึกษาในเมืองย่อมก้าวไกลกว่าในชนบท และนักเรียนหญิงในเขตชนบทก็ได้รับการศึกษาไม่สู้ในเขตเมือง แต่พวกเขาก็สามารถกระตือรือร้นให้ทันกับมาตรฐานได้”

ทั้งนี้ปัญหาพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนชายดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาเน้นการท่องจำเป็นหลัก ซึ่งขัดกับธรรมชาติของเด็กชายที่ชอบส่งเสียงอึกทึก ตื่นตัวและมักสงสัย ครูอาจารย์ก็คอยแต่จะคาดหวังให้นักเรียนชายนั่งลงกับที่ ตั้งใจเรียนและจดจำสิ่งที่สอนนานหลายชั่วโมง ซึ่งทักษะเหล่านี้นักเรียนหญิงมักจะทำให้ดีกว่าเสมอในช่วงวัยเรียนตอนต้น

“ในสหรัฐอเมริกา ถ้านักเรียนชายอยากออกไปวิ่งเล่น จะไม่มีใครห้าม แต่ในจีนผู้ปกครองและครูจะสั่งให้พวกเรานั่งลงเหมือนกับนักเรียนหญิง ผมควรจะได้ใช้เวลาว่างเล่นกีฬา เล่นบาสเกตบอล ผมคิดว่าผมกำลังขาดความเป็นชายไป ผมต้องการฟื้นฟู” วันกล่าว

หนังสือช่วยนักเรียนชาย “Saving the Boys” ได้ชี้ปัญหาระบบการศึกษาไว้ว่า เน้นที่การท่องจำเป็นหลัก แม้แต่ข้อสอบสอบเข้าในระดับประเทศ ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับนักเรียนมากที่สุด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสังหารโหดนักเรียนชาย มิให้เผยอหน้าขึ้นสู่อนาคตที่ดีได้เทียมนักเรียนหญิง
นักเรียนกำลังนั่งเรียนในวิทยาลัยในเครือจิ้งอาน มหานครเซี่ยงไฮ้ (ภาพเอเยนซี)
นอกจากปัญหาการเรียนต่อแล้ว หนุ่มจีนยังเริ่มพะวงถึงปัญหาความเป็นชายของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมากจากผลของระบบการศึกษา ฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังมาถึงนี้โรงเรียนมัธยมหมายเลข 8 เซี่ยงไฮ้จะเริ่มทดลองเดินหน้าโครงการห้องเรียนชายล้วน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความรู้สึกมั่นใจในความเป็นชายให้กับนักเรียน จากเว็บไซต์ของโรงเรียนระบุวิชาเรียนของนักเรียนชาย ได้แก่ วิชาการเอาตัวรอดในพื้นที่รกร้าง การใช้อุปกรณ์ การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า กีฬาชกมวย เป็นต้น

ผู้สมัครเรียนห้องชายล้วนกว่า 200 คนได้เผยความต้องการเล่นกีฬากว่า 60 ชนิด ขณะนี้ผู้บริหารฯ ยังปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของโรงเรียนเผยว่า โครงการห้องเรียนชายล้วนมีเจตนาจะสร้างระบบการฝึกฝนตามบุคลิกภาพของนักเรียนชายตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ “นักวิชาการด้านการศึกษาทุกคนควรจะมีความรับผิดชอบในการขยายมาตรฐานทางการศึกษาให้นักเรียนชาย” เว็บไซต์ย้ำ

“พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ห้องเรียนพิเศษเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน เราเริ่มเห็นว่านักเรียนชายของที่นี่เริ่มไม่ทำตัวเหมือนผู้ชายแล้ว” มาร์ก เคอร์บัน อาจารย์วิชาฟิสิกส์ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เผย “นักเรียนชายและหญิงมีจุดสนใจและระเบียบวิธีคิดไม่เหมือนกัน นักเรียนที่คะแนนดีที่ผมสอนก็ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กหญิง”

“บางทีสังคมให้คุณค่ากับนักเรียนชายมากกว่า ทำให้นักเรียนชายมองว่าพวกเขาต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของคนรอบข้าง แต่พวกเขาก็ได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาแต่ใจทำให้ทำตัวเป็นลูกคุณหนู ขณะที่นักเรียนหญิงรู้สึกว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางความขาด เพราะพวกเขาไม่ใช่เด็กชายย่อมไม่เป็นที่ยินดีในสังคมจีนตามค่านิยมดั้งเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงมีแรงกดดันและฮึดสู้เพื่อเอาดีด้านอื่น”
กำลังโหลดความคิดเห็น