xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงสุดไว้ชีวิตเศรษฐินีเงินนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐินีอู๋ อิง แห่งมณฑลเจ้อเจียง - แฟ้มภาพ
เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล - หลังจากเกิดข่าวฮือฮากรณีศาลสูงมณฑลเจ้อเจียงตัดสินประหารชีวิตเศรษฐินีสาวอู๋ อิง โทษฐานฉ้อโกงเมื่อต้นปี โดยชาวเน็ตต่างพากันประท้วงคำพิพากษาดังระงมในโลกไซเบอร์ และบุคคลสำคัญระดับประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้ออกมาแสดงความเห็นใจจำเลยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ ( 20 เม.ย.) ศาลประชาชนสูงสุดของจีนได้มีคำพิพากษาไว้ชีวิตเศรษฐินีวัย 30 ผู้นี้ และส่งคดีกลับไปให้ศาลสูงของมณฑลเจ้อเจียงพิจารณาใหม่ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า แม้ศาลรู้สึกว่าเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มีจำนวนมหาศาลและก่อความเสียหายอย่างมากกับผู้ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งต่อการบริหารจัดการด้านการเงินของรัฐบาล แต่เมื่อศาลประเมินคดีนี้ทั้งหมดแล้ว เห็นว่าโทษประหารชีวิตอาจถูกเลื่อนออกไปก่อน

คดีของอู๋ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการปล่อยเงินกู้นอกระบบ และช่องโหว่ในระบบการเงินบนแดนมังกร ซึ่งธุรกิจขนาดย่อมต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินทุนเอาเอง ในขณะที่รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของรัฐกลับได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างสบายจากบรรดาธนาคารสินเชื่อรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน มี.ค. นายกรัฐมนตรีเวินระบุว่า ศาลสูงสุดกำลังพิจารณาคดีของอู๋อิงอย่างระมัดระวังที่สุด และกล่าวว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่า พัฒนาการของการเงินนอกระบบยังไม่ถูกปรับให้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน นายเวินยังเรียกร้องให้ยุติสิ่งที่เขาเรียกว่า “การผูกขาด” ของธนาคารรัฐในการปล่อยกู้

ทั้งนี้ ขนาดของการเงินนอกระบบในจีนไม่มีใครทราบอย่างชัดเจน แต่นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า มันมีบทบาทสำคัญในการนำเงินทุน ซึ่งเป็นที่ต้องการไปให้แก่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80 ในเมือง

การสร้างชีวิตของอู๋เป็นเรื่องราวที่โด่งดังในเมืองจีน จากลูกสาวชาวนา ผู้เริ่มต้นด้วยการเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยเล็บ จากนั้น ก้าวไกลมาถึงขั้นเป็นเจ้าของเครือบริษัท “เบนส์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป” (Bense Holding Group) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง

นอกจากนั้น จากการจัดอันดับของหูรุ่นรีพอร์ต อู๋ติดอันดับที่ 68 ของบุคคลร่ำรวยที่สุดในจีนในปี 2546 ด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองจำนวน 3,600 ล้านหยวน

นอกจากธุรกิจของบริษัทแล้ว อู๋ยังทำตัวเป็นธนาคารนอกระบบ ระดมเงินทุนและปล่อยกู้ โดยทำเป็นเครือข่าย ในสำนวนฟ้องของอัยการระบุว่า อู๋ยืมเงินจากนักลงทุนรายย่อยได้เป็นจำนวนถึง 770 ล้านหยวน โดยสัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละ 80 ต่อปี แต่เอาเข้าจริง อู๋ไม่สามารถคืนเงินให้แก่นักลงทุนได้ โดยเงินที่จะต้องคืนมีจำนวนทั้งสิ้น 380 ล้านหยวน

นอกจากนั้น สำนักข่าวซินหัวยังเผยแพร่ภาพถ่ายการลงทุนบางอย่างของอู๋ ซึ่งตำรวจระบุว่า ประกอบด้วยการลงทุนในรูปของการซื้อบ้านกว่า 100 หลัง รถยนต์ 41 คัน ซึ่งรวมทั้งรถเฟอร์รารี และบีเอ็มดับบลิว รวมทั้งนำเงินไปซื้ออัญมณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหยกรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านหยวน

อย่างไรก็ตาม ทนายความของอู๋โต้แย้งว่า อู๋ยืมเงินจากเพื่อนๆ นักลงทุน มิใช่การระดมทุนสาธารณะ โดยได้นำเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนในธุรกิจของเธอเอง และนำไปปล่อยกู้ ส่วนภาพถ่ายเหล่านั้นจะใช้เป็นหลักฐานว่า อู๋นำเงินไปซื้อทรัพย์สินส่วนตัวไม่ได้

อู๋ถูกศาลชั้นต้นของมณฑลเจ้อเจียงตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี 2552 และศาลสูงของมณฑลยืนคำตัดสิน จากนั้น ส่งคดีต่อมายังศาลประชาชนสูงสุด ซึ่งโทษประหารชีวิตจะกระทำได้ต้องผ่านการเห็นชอบของศาลนี้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ศาลสูงสุดมีคำพิพากษานี้ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังหาทางบรรเทาการใช้บทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตในระบบตุลาการตามแรงกดดันของนานาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชน

หลังจากคำตัดสินของศาลสูงสุด ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมายในไมโครบล็อก

“ถ้าคดีของอู๋ อิงไม่ตกเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางแล้ว เธอจะรอดพ้นโทษตายไหมเนี่ย ” บล็อกเกอร์รายหนึ่งถาม

ขณะที่บล็อกเกอร์อีกรายแสดงความหวังว่า ผลในท้ายที่สุดจะเป็นข่าวดี แต่คำพิพากษาสุดท้ายคงไม่ยืดเยื้อนานเกินไป เพราะใครจะไปรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรกับอู๋บ้างระหว่างที่อยู่ในคุก
กำลังโหลดความคิดเห็น