xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตวิจารณ์เละ โทษประหารเศรษฐินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อู๋ อิงเศรษฐินีสาวถูกตัดสินประหารชีวิตโทษฐานฉ้อโกง - เอเจนซี
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - การพิพากษาประหารชีวิต “อู๋ อิง” เศรษฐินีสาววัย 29 ปีแห่งมณฑลเจ้อเจียงโทษฐานฉ้อโกงของศาลแดนมังกรถูกวิจารณ์โจมตีอื้ออึงในอินเทอร์เน็ต โดยบางคนเชื่อว่า เป็นการฆ่าตัดตอน ก่อนจะสาวไปถึงเจ้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วม

ภายหลังการประกาศคำพิพากษาเมื่อวันพุธ (18 ม.ค.) ของศาลสูงของมณฑลเจ้อเจียง กระทู้มากมายได้พรั่งพรูว่อนในโลกออนไลน์ เช่น เป็นการตัดสิน ที่ทรงความยุติธรรมแล้วหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับการพิพากษาคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คำพิพากษานี้ยังต้องรอการพิจารณาทบทวนจากศาลสูงสุดในขั้นสุดท้าย

เรื่องราวชีวิตระดับตำนานของอู๋ ที่ครั้งหนึ่งเคยติดอันดับสตรีร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของจีน กลายเป็นข่าวครึกโครมทางสื่อมาตั้งแต่หญิงผู้นี้ก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี ด้วยการไต่เต้าทำงานในร้านเสริมสวยของป้าในเมืองตงหยาง จนในที่สุดได้สร้างธุรกิจยักษ์ใหญ่ “เบนส์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป” (Bense Holding Group) แต่ชีวิตดุจเทพนิยายก็มีอันต้องจบลงเมื่อเดือนก.พ. 2550 เมื่ออู๋ถูกตำรวจจับ และถูกศาลตัดสินประหารชีวิตโทษฐานฉ้อโกงเงินจากประชาชนจำนวน 770 ล้านหยวนในรูปของการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอย่างผิดกฎหมาย โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเครื่องล่อ

ผู้คนมากมายในสังคมจีนพากันสงสาร เพราะเชื่อว่า อู๋ตกเป็นเหยื่อของนโยบายจากรัฐบาลกลาง ซึ่งทำให้บริษัทเอกชนกู้เงินจากธนาคารได้ยากมาก ขณะที่อู๋ยอมรับว่า กระทำผิดกฎหมายจริง แต่ไม่มีเจตนาฉ้อโกง แต่ธุรกิจไม่ดี จึงต้องการเงินทุนมาหมุนเวียน

ทนายความจำเลยและสังคมออนไลน์ยังตั้งคำถามอีกว่า ทางการเคยให้คำมั่น ที่จะลดการใช้บทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต โดยเฉพาะในการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตหลายคนก็ได้รับการลดหย่อนโทษประหารชีวิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เหตุใดอู๋จึงต้องตาย

ทั้งนี้ ในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ อู๋ได้ให้ความร่วมมือ โดยเปิดเผยชื่อผู้สมรู้ร่วมคิด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคน ชาวเน็ตหลายคนตั้งกระทู้ถามว่า อู๋ต้องตาย มิเช่นนั้น คดีนี้อาจพาดพิงไปถึงใครอีกหลายคนใช่ไหม

“การประหารชีวิตอู๋จะไม่ทำให้พวกธนาคารใต้ดินหยุดเคลื่อนไหวได้” ศาสตราจารย์หู ซิ่งตง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่งระบุในบล็อกของเขา

เขาชี้ว่า หากพิจารณาการจำกัดความคำว่าการระดมทุนอย่างผิดกฎหมายในปัจจุบันแล้ว ดังนั้น การปล่อยกู้จากนักลงทุนทั้งหมดก็อาจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการ และคดีของอู๋มีแต่จะให้สิทธิ์แก่ทางการในการผูกขาดระบบการเงินและการธนาคารของจีนเท่านั้น แต่แทบไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในการระดมทุน เพื่อธุรกิจเลย

“ มีแต่จะทำให้เกิดอู๋ขึ้นมาอีกหลายคนเท่านั้น” เขากล่าว

ขณะที่ชาวเน็ตอีกรายยกตัวอย่างของนายอี้ว์ เจิ้นตง อดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ฉ้อโกงเงินกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเงินจากกองทุนสาธารณะจำนวน 132 ล้านหยวนมาใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่เขาถูกตัดสินจำคุกเพียง 12 ปีเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น