เดอะนิวยอร์กไทมส์ - แดนมังกรนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการเซ็นเซ่อร์สะบั้นหั่นแหลกรายงานข่าวการเมือง ที่มีความอ่อนไหว ทว่าสำหรับข่าวประเภทยกยอปอปั้นบริษัทธุรกิจของฝรั่งหรือในเอเชียด้วยกันแล้ว เรื่องกลับตรงกันข้าม เพราะสื่อมวลชนของจีนไม่ว่าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวิทยุโทรทัศน์เต็มใจเสียยิ่งกว่าเต็มใจ ที่จะเสนอข่าวให้อย่างไม่อั้น ถ้า… เงินดี
ต้องการให้ลงชีวประวัติสั้น ๆผู้บริหารระดับสูงของคุณในนิตยสารเอสไควร์ภาคภาษาจีนรึ
เดี๋ยวจัดให้ แต่คิดตกหน้าละ 20,000 ดอลลาร์นะ จากการเปิดเผยของฝ่ายโฆษณานิตยสารฉบับดังกล่าว
อยากให้ลงเรื่องเกี่ยวกับท่านประธานของคุณในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ( CCTV) ใช่ไหม
จ่ายมา นาทีละ 4,000 ดอลลาร์ ที่ปรึกษารายหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมการในเรื่องนี้เล่า
ขณะที่ฝ่ายขายโฆษณาของเวิร์กเกอร์ส์เดลี (Workers’ Daily) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า หากต้องการให้ลงบทความยกยอบริษัท ต้องจ่ายเงินราว 1 ดอลลาร์ต่ออักษรจีนแต่ละตัว
แม้จีนมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ที่ห้ามการรับเงินใต้โต๊ะ เพื่อลงข่าวเชียร์กัน แต่พฤติกรรมดังกล่าวของสื่อเลือดมังกรก็ขยายวงกว้างไปไกลถึงขั้นสื่อหลายสำนักทำรายการแจกแจงอัตราค่าลงข่าว ซึ่งมีหลายราคากันเลยทีเดียว
และในขณะที่บริษัทชาติตะวันตกและนักข่าวชาวจีนหลายคนไม่เต็มใจเอ่ยถึงเรื่องนี้ แต่บางครั้งบริษัทด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์กลับเป็นฝ่ายออกมาเปิดเผยอย่างเหนือการคาดคิดเรื่องที่บริษัทของตนเล่นบนคนกลางในการเจรจาขอซื้อพื้นที่ลงข่าว ซึ่งเรียกในที่นี้ว่า “ข่าวเบา ๆ” หรือ “ข่าวซึ่งมีค่าตอบแทน”
บริษัทโอกิลวี่แอนด์มาเทอร์ ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกยอมรับว่า ทางบริษัทได้จ่ายเงินแก่สื่อ เพื่อขอพื้นที่ลงข่าวบางประเภทให้แก่ลูกค้า โดยโอกิลวี่อ้างว่า แม้นโยบายของบริษัทไม่แนะนำให้ลูกค้าเช่นนี้ แต่ในธุรกิจบางประเภท เช่นธุรกิจเกี่ยวกับความหรูหรา การขอซื้อพื้นที่ลงนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนและนักข่าวชาวจีน ที่ยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณพากันตำหนิพฤติกรรมรับจ้างลงข่าว ซึ่งพวกเขากล่าวว่า มันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากจนเกินไปแล้วสำหรับสื่อจีน
“ การทุจริตคอร์รัปชั่นกลายเป็นวิถีชีวิตในประเทศจีนปัจจุบันไปแล้ว” นายซุน สีว์เป่ย นักวารสารศาสตร์ประจำสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีนในกรุงปักกิ่งระบุ
“แต่เมื่อมันเกิดขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ ก็เลวร้ายเสียยิ่งกว่าการคอร์รัปชั่นในสาขาอื่น เพราะผู้คนจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เชื่อถือได้อย่างแท้จริง”
แม้ไม่ใช่ธุรกิจหรือบริษัททุกรายไปในวงการสื่อแดนมังกร ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ และนักหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ของชาติตะวันตกเองก็มีเยอะแยะไป ที่รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งจ้างให้ลงข่าว ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อระบุว่า องค์กรสื่อของจีนปล่อยปละละเลยกฎระเบียบในเรื่องนี้กว่าฝรั่งมาก และไม่มีที่ไหนที่การยื่นหมูยื่นแมวจะเป็นเรื่องปกติและดุเดือดมากเท่าในจีน
“ถ้าบริษัทของผมบริษัทหนึ่งเกิดคิดวิธีรักษาโรคมะเร็งได้ ผมก็ยังให้นักข่าวมาฟังการแถลงข่าวไม่ได้เลยครับ ถ้าไม่สัญญาว่าจะให้ซองหนัก ๆ” นักลงทุนเงินทุนภาคเอกชนในนครเซี่ยงไฮ้ผู้หนึ่งเล่า โดยยืนกรานไม่บอกชื่อแซ่ เพราะกลัวนักข่าวรวมหัวคว่ำบาตรไม่ลงข่าวบริษัทของเขา
บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ 6 รายที่ดำเนินธุรกิจในจีน เช่น ฟอร์ดและเจเนอรัลมอเตอร์ ตลอดจนหอการค้าอเมริกาในเซี่ยงไฮ้ต่างปฏิเสธให้ความเห็นเรื่องจ่ายเงินจ้างลงข่าว และไม่มีบริษัทใดในทั้ง 6 รายนี้ถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงิน
อย่างไรก็ตาม หากมีการรวมจำนวนเงิน ที่บริษัทมะกันจ่ายให้โดยตรงแก่ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ และผู้ผลิตสื่อบนแดนมังกร โดยมิใช่เป็นเงินซื้อพื้นที่ หรือเวลาออกอากาศตามปกติ ที่ทำกันทั่วไปแล้ว บริษัทมะกันเหล่านี้ก็อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Foreign Corrupt Practices Act) กันเลยทีเดียว โดยกฎหมายฉบับนี้ห้ามบุคคลที่ทำงานในบริษัทอเมริกันในต่างแดนจ่ายสินบน หรือจ่ายเงินในการทุจริตแก่เจ้าหน้าที่ต่างชาติ เพื่อได้รับ หรือรักษาธุรกิจ หรือคงความได้เปรียบทางธุรกิจอื่น ๆ
นายเลสลี ลิกอร์เนอร์ นักกฎหมายประจำนครเซี่ยงไฮ้ของบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ “ซิมมอนแอนด์ซิมมอน” กล่าวว่า ในจีนนั้น นักข่าวถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เพราะสื่อมวลชนถูกแขนงถูกควบคุมโดยรัฐบาล ฉะนั้นการจ่ายเงินผิดกฎหมายให้นักข่าวจึงเป็นการละเมิดกฎหมายฉบับดังกล่าว
ขณะที่ในจีนเองก็มีกฎหมายห้ามการรับเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ลงข่าวประเภทเชลียร์เช่นกัน และมีบทลงโทษหนักถึงขั้นจำคุก
แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า เงินประเภทนี้มันมีมากมายเหลือเกิน และกำลังกระฉอกกระเซ็นซ่านไปทั่ว จนการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแทบไม่ปรากฏให้เห็นบนแดนมังกร