xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังข่าวปลดปั๋ว ซีไหล

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นครฉงชิ่ง
การอธิบายประเด็นการปลด ปั๋ว ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนครฉงชิ่ง ที่ปรากฏตามหน้าสื่อ โดยทั่วไปมักมองว่าเป็นเรื่องของ “เกมการเมือง” เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจมุ้งต่าง ๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยการปลดปั๋ว ซีไหลนี้จะเป็นการกรุยทางให้กับกลุ่มผู้นำอันมี สี จิ้นผิง ที่ถูกวางตัวเป็นเลขาธิการพรรค ฯ และประธานาธิบดีคนต่อไปของสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นกุมอำนาจได้อย่างราบรื่น มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากมองให้กว้างกว่าเรื่อง “เกมการเมือง” แล้ว จะพบว่าข่าวเกรียวกราวเรื่องการปลดปั๋ว ซีไหล ข่าวลือเรื่องรัฐประหารที่ตามมา และการเก็งโผผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ของจีน ซึ่งจะเกิดความชัดเจนขึ้นในปีนี้ สัมพันธ์กับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจีน และความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก

ว่าด้วยเรื่องคอร์รัปชั่น

พลันการปลดปั๋ว ซีไหล จากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ฯ แห่งนครฉงชิ่งเป็นข่าวอย่างเป็นทางการ ก็ปรากฏเสียงทั้งจากผู้สนับสนุนและต่อต้าน ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองกระแสต่างมี “จุดร่วม” คือ ประเด็น “คอร์รัปชั่น”

ผู้ที่ต่อต้านการปลดปั๋ว ซีไหลแสดงความเห็นในเว่ยปั๋วครวญครางระบุว่า “การปลดปั๋ว ทำให้มวลชนร่ำไห้ เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นหัวเราะร่า พวกเขาจะรีดไถประชาชนต่อไป....”
(http://research.jmsc.hku.hk/social/index.py/ singleSinaWeibo?id=3425590495671909)

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการปลดปั๋ว ซีไหลระบุว่า “จีนในยุคศตวรรษที่ 21 เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน...แต่ยังมีคนที่เชื่อเรียกร้องในเรื่อง คนดี ผู้ที่จะมากอบกู้ เช่น จักรพรรดิผู้ทรงธรรม เจ้าหน้าที่มือสะอาด ตื่นกันได้แล้ว สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่คนดี แต่คือ ระบบที่ดี เช่นที่นายกรัฐมนตรีเวินกล่าวถึง เราต้องการนิติรัฐ หาใช่การปกครองโดยคน เราต้องการความโปร่งใส ตรวจสอบได้.......”
(http://research.jmsc.hku.hk/social/index.py/singleSinaWeibo?id =3424510130852184)

สองวิวาทะนี้แม้จะมีจุดยืนต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีประเด็นร่วมเรื่องการคอร์รัปชั่น นอกจากสองวิวาทะที่เกิดขึ้น สื่อจีนในช่วงนี้ก็มักโหมข่าวสถิติการปราบคอร์รัปชั่น ขณะที่ผู้นำระดับสูงอย่าง สี จิ้นผิง เองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการปลดปั๋ว ซีไหลว่า เจ้าหน้าที่พรรคฯ ควรรู้จักใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม ไม่ทุจริต อย่ายึดติดในความสุขสบาย และลัทธิปัจเจกนิยมสุดขั้ว

ทำไมจึงต้องเน้นย้ำเรื่องการคอร์รัปชั่นกันมากนัก? แน่นอนว่าในช่วงก่อนการเปลี่ยนถ่ายผู้นำเลือดใหม่ มักมีการโหมกระแสปราบคอร์รัปชั่น ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การกำจัดผู้นำในกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น ทว่าสำหรับประชาชนและผู้นำรัฐจีนแล้ว ยังมีอะไรมากไปกว่าเกมการเมือง จนทำให้ข้อหาเรื่องคอร์รัปชั่นใช้สร้างความชอบธรรมในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ระหว่างแถลงข่าวหลังการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน

ในสังคมที่การตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจกระทำได้ยาก เนื่องจากจีนไม่ได้แบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทั้งยังไม่ได้ประยุกต์ใช้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล เช่นเดียวกับสังคมประชาธิปไตย แม้ในระยะหลังจีนดูเหมือนเปิดกว้างมากขึ้น แต่อำนาจยังคงอยู่ในมือพรรคฯ การโหมเรื่องปราบคอร์รัปชั่นจึงได้ใจประชาชนไม่น้อย เพราะเท่ากับโฆษณาให้เห็นถึง ความพยายามในการมุ่งสู่ความโปร่งใสตรวจสอบได้ อำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่ดูล้นเหลือถูกจำกัดและตรวจสอบชั่วขณะหนึ่ง สำหรับสามัญชนที่ถูกจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเสพข่าวเรื่องราวการปราบปรามคอร์รัปชั่นในอีกนัยหนึ่ง จึงเปรียบประดุจว่า ณ ช่วงเวลานั้น พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเหมือนอำนาจได้ถูกแบ่งมาในมือของพวกเขาบ้าง ผ่านการจ้องมองภาพของเจ้าหน้าที่ อันเป็นตัวแทนอำนาจรัฐระดับต่าง ๆ ถูกลงโทษ

ความหวาดหวั่นที่แท้จริง

ลึกลงไปแล้ว การปลดปั๋ว ซีไหล ไม่ได้มีเหตุผลเฉพาะเรื่องอดีตผู้ช่วยของเขาหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอเมริกา หรือเพราะเกมการเมืองอย่างเดียว แต่เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของก้าวย่างต่อไปของจีนในอนาคต

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าปั๋ว ซีไหล ยึดมั่นในแนวทางของประธานเหมา และยังพยายามสร้างชื่อเสียงให้กับตน กระทั่งถึงระดับที่เขากลายมาเป็นบุคคลที่โดดเด่นเหนือคนอื่น การบริหารฉงชิ่งของเขาเองก็มีการรณรงค์แก้ปัญหาสังคมโดยการอัดฉีดวัฒนธรรมสังคมนิยม เฉกเช่นครั้งปฏิวัติวัฒนธรรม จากแนวโน้มในการบริหารฉงชิ่งของเขา ทำให้มีความหวาดระแวงกันอยู่ว่า หากก้าวสู่อำนาจระดับสูงปั๋ว ซีไหล อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของจีนที่ดำเนินอยู่

ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ก็ส่งสัญญาณถึงกรณีปั๋ว ซีไหลอย่างชัดเจน ด้วยการระบุว่า “หากปราศจากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองที่ลุล่วง เราจะไม่มีทางทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ลุล่วงได้....หากปราศจากการปฏิรูปทางการเมือง จีนอาจเสี่ยงกับการเผชิญโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ”

ในทัศนะของผู้นำจีนกลุ่มสี จิ้นผิง และเวิน เจียเป่า สิ่งที่ปั๋ว ซีไหลทำคือการพยายามฟื้นลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งขัดกับความพยายามของผู้นำจีนส่วนใหญ่

นับแต่ปลายทศวรรษ 1970 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง และผู้นำรุ่นต่อ ๆ มา พยายามสลายลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ในยุคประธานเหมา อาทิ การปฏิวัติวัฒนธรรม นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบรรดาผู้นำจีนพยายามสร้างกลไก และสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง จนนำไปสู่การดำเนินนโยบายและการถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่น ไม่ได้ยึดติดกับบุคคลใด การนำและการบริหารงานจึงเกิดจากการปรึกษาหารือ และเป็นการนำรวมหมู่ หาใช่เป็นเรื่องของคนดี อัศวินขี่ม้าขาวเพียงคนเดียว

การสร้างกลไกและสถาบันทางการเมืองนี้ ผู้นำจีนเชื่อว่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์โลกและสังคมจีนในปัจจุบัน ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนและรวดเร็ว แต่ละประเทศโยงใย และพึ่งพิงกันมากขึ้น จีนไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นดั่งยุคประธานเหมาได้อีกต่อไป เหตุฉะนั้น การเดินตามแนวทางของปั๋ว ซีไหลจึงเป็นเรื่องอันตราย และเสี่ยงในสายตาของผู้นำ อย่างน้อยในกลุ่มเวิน เจียเป่าและสี จิ้นผิง

กำลังโหลดความคิดเห็น