xs
xsm
sm
md
lg

จีนห้ามสายการบินจ่ายค่าก๊าซคาร์บอนแก่อียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินโดยสารบินผ่านมุ่งหน้าไปยังสนามบินนานาชาติหงเฉียวในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2555 - เอเอฟพี
เอเอฟพี - จีนสั่งการห้ามสายการบินของตน มิให้ทำตามข้อปฏิบัติของสหภาพยุโรป (EU) ที่สั่งเก็บค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับเที่ยวบินต่าง ๆ ที่เข้าออกยุโรป อย่างไรก็ตามมีอีกกว่า 20 ชาติ ไม่เห็นด้วยกับกฎฯ ดังกล่าว อาทิ อิเดีย รัสเซีย และสหรัฐฯ

กรุงปักกิ่งประกาศย้ำ (6 ก.พ.) จีนต่อต้านกฎการค้าสิทธิ์การปล่อยมลพิษ (Emissions Trading System - ETS) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ที่ผ่านมา และประเด็นเหล่านี้สื่อจีนเคยประโคมข่าวว่า จะนำไปสู่ “สงครามการค้า” ในภาคการบิน

แถลงการณ์ทางเว็บไซต์ของคณะมุขมนตรีจีน เผยว่า มีคำสั่งห้ามมิให้สายการบินจีนปฏิบัติกามกฎการค้าสิทธิ์ฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเพิ่มค่าโดยสารและค่าบริการอื่น ๆ แก่ผู้โดยสารขึ้นไปอีก

“กรมการบินพลเรือนจีนออกคำสั่งตรงต่อสายการบินจีนทั้งหลายว่า หากปราศจากคำอนุมัติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐแล้ว สายการบินทั้งหมดในจีนห้ามมิให้เข้าร่วมกฎ ETS เด็ดขาด” แถลงการณ์ระบุ

จีนหวั่นว่าภาคการบินจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 800 ล้านหยวน (125 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี สำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้นหรือลงจอดในยุโรป และทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกเกือบสี่เท่าตัวภายในปี 2563

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแย้งว่า ต้นทุนการบินของสายการบินต่าง ๆ นั้นสามารถจัดการได้ โดยประมาณการว่า กฎการเก็บค่าก๊าซคาร์บอนนี้จะทำให้ต้นทุนสำหรับเที่ยวบินไป-กลับระยะยาวต้องแบกรับเพิ่มอีกประมาณ 4-24 ยูโร (32 ดอลลาร์) ต่อเที่ยว

บางสายการบินได้ประกาศขึ้นราคาค่าตั๋วโดยสารใหม่ นับแต่กฎ ETS ของอียูเริ่มมีผลบังคับ อาทิ เดลตาแอร์ไลน์ ของสหรัฐฯ หนึ่งในสายการบินใหญ่สุดของโลก ได้เพิ่มค่าโดยสารในเที่ยวบินไป-กลับระหว่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปอีก 6 ดอลลาร์ สายการบินลุฟต์ฮันซา ใหญ่สุดของเยอรมนี ก็ชี้ว่า จะเพิ่มค่าเชื้อเพลิงขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันสายการบินบรัสเซลส์แอร์ไลน์ของเบลเยียมก็เพิ่มค่าโดยสารขึ้นในเที่ยวบินนานาชาติอีก 10-135 ยูโร หากบินภายในยุโรปจะเพิ่มที่ 3-39 ยูโร

สายการบินต่าง ๆ พากันประณามว่าระบบการจ่ายเงินตามกฎฯ นี้ จะทำให้ต้นทุนบานถึง 17,500 ล้านยูโร (23,800 ล้านดอลลาร์) ในระยะเพียง 8ปีจากนี้

อย่างไรก็ตาม ระบบฯ นี้ยังคงดำเนินการต่อไป แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศมะกัน นางฮิลลารี คลินตันจะออกมายับยั้งให้อียูระงับโครงการนี้ไว้ก่อน ขณะที่สายการบินต่าง ๆ ในสมาคมการบินของสหรัฐฯ ก็ออกมาเผยอย่างไม่เต็มใจว่า สมาชิกของสมาคมจะต้องกล้ำกลืนยอมปฏิบัติตามกฎฯ ของอียู แต่ก็กำลังมองหาช่องทางทางกฎหมายอื่น ๆ มาใช้ต่อรองด้วย

สมาคมขนส่งทางอากาศจีน ตัวแทนสายการบินภายของจีน เผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ยุโรป โดยไม่ให้รายละเอียดแต่อย่างใด

แถลงการณ์ฯ ระบุว่า คำสั่งนี้จะมีผลต่อสายการบินหลักของจีนทุกแห่ง อาทิ แอร์ไชน่า ไชน่าอีสเทิร์น และไชน่าเซาท์เทิร์น

สหภาพยุโรปออกกฎ ETS ในปี 2548 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสถานีพลังงานและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยกฎฯ ดังกล่าวได้ตัดสินใจรวบอุตสาหกรรมการบินเข้าไปด้วย เพราะถือว่ามีส่วนในการปล่อยก๊าซฯ 3 เปอร์เซ็นต์ของโลก

สายการบินต่างๆ ต้องจ่ายเงินค่าปล่อยก๊าซคาร์บอนแก่อียู 15 เปอร์เซ็นต์ในปี 2555 มูลค่ารวมประมาณ 256 ล้านยูโร และในปี 2556 จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสายการบินใดที่ไม่ยอมจ่าย จะถูกปรับ และไม่มีสิทธิ์ลงจอดในสนามบินของประเทศกลุ่มสมาชิกอียู 27 ประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น