xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ จีน "สู้ฟัดหนี้ยุโรปภาคสอง" รายประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธงชาติกรีซ กับธงสหภาพยุโรป ในการประชุมสุดยอดผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (ภาพซินหวา)
เอเยนซี - จีนยินดีกับฉันทามติที่ประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป สนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้เงินยูโร และให้ความร่วมมือในการกู้วิกฤติหนี้สหภาพยุโรป นักวิเคราะห์ชี้น่าจะเป็นการเจรจาลงทุนรายประเทศ

รายงานข่าวกล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปเพื่อหามาตรการแก้วิกฤติหนี้สิน ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม นับเป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งผู้นำโลกต่างต้องการให้ผู้นำชาติสมาชิกอียู บรรลุข้อตกลงกันเพื่อหาทางป้องกัน ไม่ให้วิกฤติหนี้สินในกลุ่มยูโรโซน ลุกลามกลายเป็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก

"เราหวังว่ามตินี้ ... จะเอื้อต่อการส่งเสริมความเชื่อมั่นของตลาด" เจียงหยู โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อวันที่ 27 ต.ค. และเสริมว่า "จีนยินดีที่จะให้ความร่วมกันเพื่อรักษาการฟื้นตัว และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งในด้านการลงทุน การค้าและการเงิน"

"จีนสนับสนุนการดำเนินมาตรการของสหภาพยุโรป ที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดวิกฤตหนี้"เจียงกล่าว และยืนยันว่า ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาจะหารือทางโทรศัพท์กับ นายนิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดี ฝรั่งเศสในช่วงบ่ายพฤหัสบดี ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอด G20 ในเดือนถัดไป

แหล่งข่าวสหภาพยุโรปคนหนึ่ง กล่าวว่า นายซาร์โกซี คงจะพูดคุยกับประธานาธิบดีจีน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการสร้างกองทุนฯ ขณะที่สำนักข่าวซินหวา รายงานว่าผลการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปครั้งนี้ เป็นไปในเชิงบวกแต่ก็ยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก

"ดูเหมือนว่า การประชุมเพื่อฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปนี้ เพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศจับมือกันแก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศหลัก ซึ่งทุกฝ่ายมีความพยายามอย่างสูงที่จะนำความเชื่อมั่นกลับมา และสร้าง'ร่มชูชีพ'ที่มีประสิทธิภาพสำหรับเงินยูโร" แหล่งข่าวสหภาพยุโรปกล่าว

"ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นปัญหาของระบบ และโครงสร้างของสหภาพยุโรปที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง"

ทั้งนี้ รัฐบาลจีน เป็นผู้ถือครองตราสารหนี้รายใหญ่ของยุโรป ได้ติดตามเฝ้าดูมาตรการกู้วิกฤติหนี้ยุโรปรอบสอง ว่าจะทำอย่างไร เพื่อกู้สถานการณ์ของกรีซ ซึ่งกำลังลุกลามไปประเทศอิตาลี และบานไปทั่วยูโรโซน

พอล ชีแฮน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) Thaddeus Capital ในฮ่องกง กล่าวเชื่อมั่นว่าจีนน่าจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ในลักษณะประเทศต่อประเทศมากกว่า เพราะง่ายในการบริหารทั้งการค้า และการลงทุนสัมปทาน ซึ่งคำนึงถึงระดับอธิปไตยของแต่ละประเทศในสหภาพยุโรป

พอล ชีแฮน กล่าวว่าสถานการณ์มีแนวโน้มที่มากที่สุดคือ จีน - อิตาลี, จีน - เบลเยี่ยม ซึ่งจีนอาจจะสามารถซื้อกิจการและสินทรัพย์ในยุโรป โดยได้รับการประกันว่าจะไม่มีการต่อต้านจีน

"ดังนั้น แนวทางการลงทุนของจีน อาจจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ที่รัฐเป็นเจ้าของในประเทศกรีซก่อน" เขากล่าว

จีนได้เป็นผู้ลงทุนที่สำคัญของยุโรป จนทำให้บรรดานักการเมืองยุโรป ต่างวิตกว่าจีนคิดจะเพิ่มการลงทุนอีกหลายแสนล้านยูโร ในกิจการของรัฐ อาทิ โรงงานไฟฟ้าฯ ซึ่งเมื่อเทียบยอดหนี้ที่เป็นอยู่ ก็ยังนับว่าน้อยนิดไม่พอแก้สถานการณ์วิกฤติ

การประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีการพิจารณาแผนการลงทุนสำหรับกองทุนผ่านการตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle หรือ เอสพีวี) ซึ่งแหล่งข่าวจากยุโรปกล่าวว่า แผนนี้น่าจะได้รับการอนุมัติ ขณะที่กำลังสร้างแผนฯ อันมีความหลากหลายยืดหยุ่นสำหรับบรรดานักลงทุนต่างประเทศ หลังจากล่าสุดบราซิล ก็ปฏิเสธที่จะซื้อตราสารหนี้ยุโรปไปแล้ว

เจมส์ เอลแมน ผู้จัดการ Seacliff Capital ในซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ กล่าวว่า "ยุโรปคงจะต้องแบ่งและกระจายกิจการ เพื่อให้ง่ายสำหรับทุนภายนอกสามารถเข้าลงทุน เพราะจีนคงไม่ต้องการเข้ามาถือครองสัดส่วนเป็นก้อนใหญ่ๆ เหมือนที่ทำในโปรตุเกส" เขาเสริมว่า "ความร่วมมือของจีนในยุโรปนับเป็นการจับคู่ที่เหมาะสม เพราะยุโรปเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีน และผู้นำจีนก็ไม่ต้องการให้สหภาพยุโรปเกิดวิกฤติ จนทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันอีก"

"นอกจากนั้นจีน ซึ่งลงทุนในยุโรปเพิ่มมากขึ้นๆ ในรอบหลายปีมานี้ ก็คงต้องการที่จะกระจายการลงทุน ในทุนสำรองฯ ที่มีมากถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่ให้จมอยู่แต่ในตราสารหนี้สหรัฐฯ " เจมส์ เอลแมน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น