xs
xsm
sm
md
lg

อียูผ่านข้อตกลงฝ่าวิกฤตยูโรโซน กล่อมแบงก์สำเร็จลดหนี้กรีซ 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กำลังแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตของสหภาพยุโรป(อียู) เมื่อคืนวันพุธ(26)
เอเจนซีส์ - ยุโรปตกลงกันได้ในนาทีสุดท้ายเพื่อถอดชนวนวิกฤตหนี้ ขยายกองทุนฟื้นฟู อัดฉีดเงินก้อนใหม่ให้กรีซ และผลักดันให้บรรดาแบงก์ร่วมรับภาระมากขึ้น ระหว่างการประชุมสุดยอดในวันพุธ (26) ที่ทรงความสำคัญถึงขั้นสามารถชี้ชะตาทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวม

หลังจากหารือกันมาหลายนัด รวมทั้งประชุมสุดยอดสองรอบ (ในวันอาทิตย์ที่ 22 และพุธที่ 26 ตุลาคม) ที่ใช้เวลาทั้งสิ้นร่วม 10 ชั่วโมง และท่ามกลางการรอคอยด้วยความกังวลของตลาดและผู้นำทั่วโลก เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกมาประกาศในคืนวันพุธว่าที่ประชุมได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญลุล่วงแล้ว

นอกจากจะทำให้ตลาดหุ้นเอเชียบวกกันทั่วหน้าและอียูแข็งค่าขึ้นแล้ว คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังออกมาแสดงความยินดีกับความคืบหน้านี้ ทว่า ด้านฌอง-โคลด ทริเชต์ ที่กำลังจะอำลาตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่ายังมีงานมากมายรอให้ดำเนินการให้ลุล่วงและอย่างรวดเร็ว

**'ข้อเสนอสุดท้าย'**

ส่วนสุดท้ายและอาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดในแผนการที่ผู้นำอียูโอเคกันได้ในคราวนี้ คือ การตกลงระหว่างผู้นำยูโรโซนกับอินสติติวท์ ออฟ อินเตอร์เนชันแนล ไฟแนนซ์ (ไอไอเอฟ) หรือกลุ่มล็อบบี้ของแบงก์และสถาบันการเงินระดับยักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อบีบให้ฝ่ายนักลงทุนเอกชนยอมลดหนี้ให้กรีซ 50%

ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ขอตัวจากที่ประชุมเพื่อจับเข่าคุยกับชาร์ลส์ ดัลลารา ประธานไอไอเอฟ โดยผู้นำเมืองเบียร์ยืนกรานว่า นี่คือข้อเสนอสุดท้าย

ทั้งนี้ ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แบงก์ยอมถอยด้วยการตกลงลดหนี้เพิ่มจากเดิมที่ตกลงไว้ 21% เป็น 40% แต่ภาครัฐยืนกรานที่ตัวเลข 50%

ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายในการลดหนี้ 100,000 ล้านยูโร จาก 350,000 ล้านยูโรให้แก่กรีซ ที่ในวันเดียวกันนั้นอียูก็อนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ก้อนที่สองที่มูลค่า 130,000 ล้านยูโร

**ต่อลมหายใจกรีซ**

นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู กล่าวว่า นี่คือยุคใหม่และบทใหม่สำหรับกรีซ พร้อมระบุว่าเอเธนส์จะไม่มีการขาดดุลงบประมาณหลักอีกต่อไปนับจากปีหน้า นอกจากนี้ หากปฏิรูปเร็วพอ กรีซอาจกลับสู่ตลาดได้ก่อนปี 2012 ตามที่ไอเอ็มเอฟคาดไว้ กระนั้น ธนาคารและกองทุนบำนาญของรัฐบางแห่งอาจขาดทุนจากการลดหนี้ และแบงก์บางแห่งต้องถูกโอนเป็นของรัฐชั่วคราว

ภายใต้ข้อตกลงล่าสุด กรีซจะได้รับเงินล่วงหน้า 30,000 ล้านยูโรจากประเทศอื่นๆ เพื่อรับประกันกับธนาคารที่จะร่วมลดหนี้โดยสมัครใจ

ปาปันเดรอูคาดว่า ข้อตกลงนี้ที่จะดำเนินการผ่านการแลกเปลี่ยนพันธบัตร จะได้ข้อสรุปสุดท้ายก่อนสิ้นปี

กรีซนั้นเป็นต้นตอวิกฤตที่เริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้ว และแพร่เชื้อไปยังไอร์แลนด์และโปรตุเกส รวมถึงมีแววว่าจะลามต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 และ 4 ของยูโรโซนคือ อิตาลีและสเปนในขณะนี้

**เพิ่มกระสุนอีเอฟเอสเอฟ**

และเพื่อรับมือความเสี่ยงดังกล่าว ผู้นำยูโรโซนจึงตกลงขยายกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงิน (อีเอฟเอสเอฟ) เป็น 1 ล้านล้านยูโร

การขยายกองทุนอีก 4-5 เท่าจะใช้แนวทางที่ชาญฉลาดเพื่อให้ภาครัฐไม่ต้องรับประกันเพิ่มเติม โดยล่าสุดมหาอำนาจตลาดเกิดใหม่ จีนและรัสเซีย เสนอตัวให้ความช่วยเหลือแล้วเพื่อร่วมปกป้องเศรษฐกิจโลก

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้มีขึ้นขณะที่มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงจีน กดดันผู้นำยุโรปให้หาวิธีแก้ปัญหาระยะยาวก่อนการประชุมสุดยอดจี 20 ที่ฝรั่งเศสวันที่ 3-4 เดือนหน้า

ผู้นำยุโรปนั้นเห็นด้วยกับทางเลือกสองข้อในการขยายอีเอฟเอสเอฟโดยไม่ต้องสมทบเงินเพิ่ม ในภาวะที่ผู้เสียภาษีในหลายประเทศสมาชิก ไม่พอใจมากขึ้นกับการอัดฉีดเงินอย่างไม่รู้จบ

ทางเลือกแรกคือ อนุญาตให้อีเอฟเอสเอฟรับประกันความเสี่ยงสำหรับพันธบัตรที่รัฐบาลชาติยูโรโซนที่มีปัญหา จะนำออกระดมทุน เพื่อโน้มน้าวให้นักลงทุนซื้อพันธบัตรดังกล่าวโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ทางเลือกที่สองคือ การตั้งกองทุนพิเศษที่เชื่อมโยงกับอีเอฟเอสเอฟ เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประเทศนอกยูโรโซน กองทุนนี้ยังอาจเชื่อมโยงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเป็นแนวทางที่รัสเซียเห็นด้วย

ทั้งนี้ ซาร์โคซีเผยว่า จะหารือกับประธานาธิบดีหูจิ่นเทาในวันสองวันนี้ เพื่อชักชวนให้เข้าลงทุน โดยจีนนั้นเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สำหรับพันธบัตรที่อีเอฟเอสเอฟนำออกระดมทุนก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน เคลาส์ เร็กลิง ประธานบริหารอีเอฟเอสเอฟ จะเดินทางเยือนปักกิ่งวันศุกร์นี้ (28) และบินต่อไปยังญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งแม้ไม่มีการเปิดเผยว่าเร็กลิงจะพบกับใครหรือไปทำไม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดินทางนี้มีขึ้นขณะที่ผู้นำยุโรปกำลังทบทวนแนวคิดในการขอให้จีน บราซิล และตลาดเกิดใหม่ชั้นนำอื่นๆ มีส่วนร่วมในการกู้วิกฤตยูโรโซน

นอกจากนั้น ด้วยความกังวลว่าวิกฤตหนี้จะบานปลายกลายเป็นวิกฤตการธนาคาร ที่ประชุมผู้นำ 27 ชาติสมาชิกอียูจึงตกลงบังคับให้แบงก์พาณิชย์เพิ่มทุน ซึ่งสำนักงานการธนาคารยุโรประบุว่า ต้องการเงินทุนทั้งสิ้น 106,000 ล้านยูโร

**โรมลั่นปฏิรูป**

ขณะเดียวกัน ด้วยความกลัวว่าวิกฤตจะลามถึงอิตาลี นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี จึงเข้าร่วมประชุมพร้อมแผนการโดยละเอียดในการลดหนี้ที่มีอยู่ถึง 1.9 ล้านล้านยูโร หรือ 120% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเท่ากับว่า หากประสบชะตากรรมเดียวกับกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส อีเอฟเอสเอฟจะมีทุนไม่พอช่วยเหลือโรม

ในจดหมายที่ส่งถึงที่ประชุมในบรัสเซลส์ โรมระบุว่าจะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกระตุ้นการเติบโตภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน พร้อมให้สัญญาขยายอายุการปลดเกษียณเป็น 67 ปี ลดกระบวนการทำงานของรัฐที่ซับซ้อนเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการทำธุรกิจ ตลอดจนสร้างรายได้ปีละ 5,000 ล้านยูโรผ่านการขายอสังหาริมทรัพย์ และเพิ่มผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ

ฟาน รอมปุย กล่าวว่า ผู้นำยุโรปยินดีกับความคืบหน้านี้ และเรียกร้องให้โรมยึดมั่นในพันธะสัญญาดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น