xs
xsm
sm
md
lg

พวกผู้นำอียูบีบ “อิตาลี” เร่งปฏิรูป ศก.หลีกหนีชะตากรรม “กรีซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี แห่งอิตาลี โทรศัพท์ถึงใครบางคนก่อนเริ่มการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในวันอาทิตย์ (23) ขณะที่มีรายงานว่า เขาถูกกดดันให้เร่งดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่อตลาดแรงงานและระบบเงินบำนาญในอิตาลี
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มการการประชุมระดับสุดยอดอันทรงสำคัญยิ่งยวดในวันอาทิตย์ (23) โดยที่เฉพาะผู้นำยูโรโซนยังมีกำหนดการจะหารือซัมมิตอีกนัดหนึ่งในวันพุธ (26) ซึ่งแวดวงการเงินทั่วโลกต่างตั้งความหวังว่า ภายในวันพุธนี้จะต้องได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการอันรอบด้านในการกอบกู้ช่วยเหลือเขตยูโรโซนให้หลุดออกจากวิกฤตหนี้สินภาคสาธารณะ ขณะเดียวกันนั้น พวกผู้นำยุโรปก็กำลังเพิ่มแรงกดดันอิตาลี เพื่อให้เร่งรัดการปฏิรูปเศรษฐกิจ จะได้ไม่ต้องประสบปัญหาหนักหนาสาหัสเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นกับกรีซ

จุดมุ่งหมายหลักๆ ที่จะต้องตกลงกันให้ได้ภายในวันพุธนี้ ได้แก่ แผนการลดภาระหนี้สินของกรีซ, การเพิ่มทุนเสริมฐานะความเข้มแข็งของพวกแบงก์ในยุโรป, การปรับปรุงธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจในหมู่ชาติอียูที่ใช้สกุลเงินตรายูโร (ยูโรโซน) และการเพิ่มสมรรถนะของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) เพื่อให้สามารถรับมือในกรณีวิกฤตหนี้ภาคสาธารณะของยูโรโซนทำท่าจะแผ่ลามไปติดรัฐใหญ่ๆ

ก่อนที่พวกผู้นำทั้ง 27 ชาติของอียูเริ่มการหารือกันในกรุงบรัสเซลส์วานนี้ เกี่ยวกับแผนการอันรอบด้านที่จะสกัดกั้นวิกฤตคราวนี้ นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ได้จัดการหารือเป็นการภายในกับนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี แห่งอิตาลี ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่หลายราย

นักการทูตหลายคนชี้ว่า ผู้นำของเยอรมนีและฝรั่งเศสต้องการสร้างแรงกดดันอันหนักหน่วงที่สุดต่ออิตาลี เพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่อตลาดแรงงานและระบบเงินบำนาญ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมักกะโรนี และเพิ่มความมั่นใจอีกครั้งให้แก่เหล่านักลงทุน ซึ่งระแวงระวังอิตาลีที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงลิ่ว โดยรองลงมาจากกรีซเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ แมร์เคิลได้เคยเตือนเอาไว้ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันเสาร์ (22) ว่า ถ้าหนี้สินของอิตาลียังอยู่ในระดับเท่ากับ 120% ของจีดีพีแล้ว “มันก็ไม่สำคัญเลยว่าจะมีการก่อตั้งกำแพงปกป้องคุ้มครองจนสูงถึงขนาดไหน เพราะมันจะไม่ช่วยให้ตลาดกลับเกิดมีความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น