ประเด็นร้อนทางการเมืองในตอนต้นปีนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง ได้แก่ การเดินขบวนประท้วงขับไล่ผู้นำในประเทศอียิปต์ การปฏิวัติดอกมะลิในตูนิเซีย การประท้วงรุนแรงขับผู้นำในลิเบีย และการก่อกระแส “ชุมนุมดอกมะลิ” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในเมืองต่างๆ สิบกว่าเมืองในจีน อาจจะซาลงไปแล้วก็จริง แต่ใช่ว่าเชื้อปะทุความไม่พอใจรัฐบาลนั้น จะมีเพียงด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น
ปัญหาความคับแค้นใจของประชาชนของชาวจีนในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง การฮุบกรรมสิทธิการใช้ที่ดิน ความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร คอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ทางการต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมันให้กลับคืนมา เพราะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลไม่น้อยกว่าปัญหาความมั่นคงแห่งรัฐอื่นๆ
นายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า เคยกล่าวว่า ปมปัญหาที่นำมาซึ่งความคับแค้นเหล่านั้น ได้ชี้ถึงปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศจีนเวลานี้
ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม เป็นอีกสถานการณ์ที่นำมาสู่การประท้วงในหลายพื้นที่ของจีน สองกรณีล่าสุดได้แก่ การประท้วงใหญ่ที่ต้าเหลียน ในเดือนสิงหาคม ชาวบ้านราว 12,000 คน ประท้วงโรงงานเคมีที่ปล่อยพาราซีเลนส์ (paraxylene) สารเคมีที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ จนโรงงานต้องย้ายออกไป นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 3 ปี
เช่นเดียวกับเหตุการณ์รุนแรงจากการประท้วงของกลุ่มชาวบ้าน ราว 500 คน เมื่อเดือนกันยายน ที่สุดทนต่อการปล่อยมลพิษของโรงงานผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไห่หนิง และยังไม่ยอมรับผิดชอบ ชี้มลพิษจากโรงงานดังกล่าวทำให้ผู้คนล้มป่วยเป็นโรคมะเร็ง ปลาในแม่น้ำตายเป็นเบือ
การประท้วงรายเดือนตามพื้นที่ต่างๆ ย่อมสร้างความกังวลใจกับรัฐบาล จนต้องเร่งตรวจสอบและกระชับมาตรการควบคุมโรงงาน ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศเลยทีเดียว เพื่อลดกระแสความไม่พอใจของประชาชน ซึ่งอาจลุกลามเลียนแบบไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งตกอยู่ในทุกขภาวะคล้ายๆ กัน
เหตุการณ์ทั้งสองในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ยุติได้เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นจีนสั่งให้ปิดโรงงานทันที นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวคราว ศาลจีน พิพากษาจำคุก 15 เดือน ประธานฯ บริษัท แบตเตอรี่ซูชี่ ในเมืองไท่โจว มณฑลเจ้อเจียง ในความผิดฐานละเมิดกฎระเบียบของการปกป้องสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษทางอากาศและพื้นที่เกษตร เป็นเหตุให้ชาวบ้าน 168 คน เจ็บป่วยพบสารตะกั่วในเลือดปริมาณสูง ซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อต้นปี
สำหรับกรณี ระดมตรวจสอบปิดโรงงานนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างจับตามองว่า หากรัฐบาลแก้ปัญหานี้ล่าช้า เพราะติดขัดงัดข้อกับรัฐบาลท้องถิ่น อาจจะเป็นชนวนปลุกให้ประชาชนในท้องถิ่นทุกหย่อม ลุกฮือขึ้นมาจัดการปัญหากันเอง
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 5 กระทรวง รวมถึงคณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ กับกระทรวงการป้องกันสิ่งแวดล้อมของจีนได้ร่วมกำกับดูแลโรงงานต่างๆ ให้รายงานการดำเนินงานของกิจการฯ ให้เข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญ หลายคนก็แสดงความคิดเห็นว่า ทุกอย่างก็คงขึ้นอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติว่าจะจริงจังเพียงใดมากกว่า
หม่า เถียนจื่อ เจ้าหน้าที่รณรงค์ จากกลุ่ม กรีนพีซ (จีน) กล่าวว่า มาตรการคุมเข้ม มักเป็นงานที่ทำเป็นพักๆ เกรงว่าจะทำเฉพาะเวลามีเรื่องราวใหญ่โต ขณะที่ทางการท้องถิ่นก็ไม่ได้จริงจังอะไรมาก คงรอให้เรื่องราวซาไปเพราะสนใจการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า เช่น ทางการท้องถิ่นต้าเหลียน ให้คำมั่นกับผู้ประท้วงว่าจะปิดและย้ายโรงงานปิโตรเคมี PX ซึ่งมีมูลค่า 60,000 ล้านหยวน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็รายงานว่า โรงงานนี้ ก็ยังเปิดดำเนินการอยู่
หลังจากการตรวจสอบเมืองต้าเหลียนแล้ว ทีมตรวจสอบแค่บอกกับประชาชนว่า “ผลการทดสอบไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เนื่องจากอ้างอิงตามตัวบทกฎหมายและนโยบายภาครัฐ”
ปัญหาความหวาดกลัวมลภาวะในจีนเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จีนเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดในโลก เนื่องจากเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 3 ทศวรรษมานี้ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
หม่า จวิน ผู้อำนวยการ Institute of Public and Environmental องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรในปักกิ่ง กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อกระแสไม่พอใจ และการรวมตัวเรียกร้องของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งใหญ่ ประท้วงโรงงานปิโตรเคมีแถบท่าเรือซย่าเหมิน เมื่อปี 2550 จนถึงตอนนี้ “ประชาชนตื่นตัวต่อความเสียหายจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสำนึกเกี่ยวกับสิทธิก็มีมากขึ้น หลายๆ กรณีสะท้อนชัดเสียงของประชาชนที่ว่า ‘ไม่ใช่หลังบ้านฉัน’(อย่าทิ้งของเสียของเน่าที่หลังบ้านฉัน) ” หากรัฐบาลกลางไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ของประชาชนท้องถิ่นได้ คงจะกระทบเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลจีนในอีกไม่ช้านาน