xs
xsm
sm
md
lg

รบ. จีนปิด รง.เคมีตามคำขอ หลังชาวบ้านต้าเหลียนประท้วงหลายพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองกำลังตำรวจพิเศษของจีนยืนกันไม่ให้ผู้ประท้วงนับร้อยคนเข้าไปยังอาคารของกลุ่มโรงงานฝูจยา ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ของต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง (14 ส.ค.) ภาพเอเอฟพี
เอเยนซี - รัฐบาลท้องถิ่นจีนสั่งให้ปิดโรงงานอุตสาหกรรมเคมีทันทีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 ส.ค.) หลังจากชาวบ้านในพื้นที่หลายพันคนรวมตัวประท้วงเต็มถนน เรียกร้องให้โรงงานย้ายไปตั้งที่อื่น เนื่องจากความหวาดกลัวปัญหามลภาวะ

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ชาวบ้านรวมตัวชุมนุมนับรวมหลายวันมานี้มีประมาณ 12,000 คนในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง นับเป็นเหตุการณ์สั้น ๆ ที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหาความไม่พอใจในสังคม อาทิ ความไม่เท่าเทียมในสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมฯ

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ชาวบ้านในเขตท่าเรือต้าเหลียนรวมตัวกันหน้าที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นเมื่อเช้าวานนี้ (14ส.ค.) โดยมีผู้คนทยอยมารวมตัวกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางคนก็เข้าไปพัวพันกับตำรวจปราบจลาจล โดยขว้างปาขวดน้ำเข้าใส่ตำรวจ ในขณะที่ฝ่ายตำรวจพยายามจะปิดล้อมถนนสายหลัก แต่ก็ไม่มีรายงานการได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

จากนั้น ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนก็แบ่งกลุ่มและเคลื่อนย้ายไปยังส่วนต่าง ๆ ในเมืองฯ ตะโกนโห่ร้องชูป้าย ขณะที่ชาวเน็ตเผยในทวิตเตอร์ว่า มีผู้พบเห็นรถปราบจลาจลของตำรวจฯ เคลื่อนตัวเข้าไปในเมืองด้วย

การชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยมีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวว่าจะได้รับสารพิษเคมีจากโรงงานผลิตสารพาราไซลีน ซึ่งตัวสารมีสถานะเป็นของเหลวติดไฟที่อาจก่อโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตแผ่นฟิล์มใสและใยสังเคราะห์ต่าง ๆ

เมื่อวันจันทร์ (8 ส.ค.) ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้องย้ายที่อยู่ หลังจากมีพายุพัดทำให้เขื่อนกั้นโรงงานแตกและพัดพาน้ำเข้าสู่อาคารบ้านเรือนสร้างความเสียหาย ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวว่าสารพิษเคมีจะรั่วไหลออกมาด้วย
ผู้ประท้วงหลายร้อยแสดงท่าทางต่าง ๆ ในช่วงการประท้วง หน้าอาคารทำการเครือข่ายโรงงานฝูจยา ในเมืองต้าเหลียน (14 ส.ค.) ภาพเอเอฟพี
แม้ว่าแรงงานพยายามจะซ่อมเขื่อนกั้นดังกล่าว แต่ชาวบ้านก็ยังคงกังวลว่าต้องมีสิ่งแวดล้อมมากมายที่ถูกทำลายไปเพราะโรงงานซึ่งอยู่ในเครือข่ายโรงงานฝูจยา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนระดับท็อปของต้าเหลียน

สำนักข่าวซินหวา รายงาน (14 ส.ค.) ว่า รัฐบาลท้องถิ่นสั่งให้ปิดโรงงานทันที หลังจากผู้ประท้วงหยุดยุทศาสตร์เคลื่อนกำลัง และรัฐบาลฯยังให้คำมั่นด้วยว่าจะย้ายที่ตั้งโรงงานใหม่

พนักงานต้อนรับในโรงแรมแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีทางโทรศัพท์ว่า ผู้ประท้วงรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขอนามัยของเขา “หากพวกเขามีทางเลือกที่ดีกว่า พวกเขาก็ไม่อยากมาประท้วงหรอก”

ภาพผู้ประท้วงอัพโหลดขึ้นสังคมออนไลน์เวยปั๋ว แสดงภาพผู้คนเดินเต็มถนนพร้อมป้ายเขียนว่า “พวกเราต้องการความอยู่รอด พวกเราต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เอาต้าเหลียนของพวกเราคืนมา” บางภาพก็แสดงให้เห็นว่า ผู้คนอัดแน่นเต็มท้องถนน หลายร้อยคนนั่งอยู่ตรงจัตุรัสหน้าสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่น และเด็ก ๆ ก็ยังมาร่วมเดินขบวนกับพ่อแม่ของตนด้วย

หลังจากการตรวจสอบเมืองต้าเหลียนแล้ว ทีมตรวจสอบก็บอกกับประชาชนว่า “ผลการทดสอบไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เนื่องจากอ้างอิงตามตัวบทกฎหมายและนโยบายภาครัฐ”

ปัญหาความหวาดกลัวมลภาวะในจีนเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จีนเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดในโลก เนื่องจากเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 3 ทศวรรษมานี้ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ก่อกระแสไม่พอใจและการรวมตัวเรียกร้องของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2550 โรงงานปิโตรเคมีแถบท่าเรือซย่าเหมินมูลค่าพันล้านดอลลาร์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้อยู่อาศัยเนื่องจากมลภาวะที่โรงงานปล่อยออกมา
กำลังโหลดความคิดเห็น