xs
xsm
sm
md
lg

“โลกที่วุ่นวาย” กร่อนเซาะ ศก.จีน IMFลดคาดการณ์จีดีพีมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี - ไอเอ็มเอฟเผยผลคาดการณ์ใหม่ (20 ก.ย.) เศรษฐกิจจีนที่พึ่งพาแต่การส่งออกจะขยายตัวลดลง พร้อมชี้ ความสับสนอลหม่านทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งกระแสเงินเฟ้อที่มีอยู่จะรวมพลังกลายเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ที่มีฐานอยู่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่า โลกกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ช่วงอันตราย พร้อมเรียกร้องให้ปักกิ่งปรับสมดุลเศรษฐกิจให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าตามกลไกตลาดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่จีนประสบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกู้สถานการณ์ตลาดต่างประเทศไว้ได้ด้วย

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด (World Economic Outlook) ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า จีนและชาติอาเซียนที่แต่ไหนแต่ไรมาก็พึ่งพาการส่งออกในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนนั้น ต้องหันมากระตุ้นการบริโภคภายในเพื่อทำให้การค้าโลกดีขึ้น

สำหรับจีน ไอเอ็มเอฟเผยว่า “อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของจีนที่แข็งขึ้น บวกกับการปฏิรูปโครงสร้าง จะช่วยยกระดับกำลังซื้อภายในประเทศ และจะทำให้เกิดภาวะสมดุลกับภายนอก พร้อมช่วยรักษาระดับเงินเฟ้อได้ด้วย”

ขณะนี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของจีน ผู้ครองแชมป์เศรษฐกิจโลกลำดับ 2 รองจากอเมริกา ลงมาอยู่ที่ 9.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2554 และลงมาอยู่ที่ 9.0 เปอร์เซ็นต์ในปี 2555 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของจีนในช่วงปี 2543-2550 ซึ่งอยู่ที่ 10.5 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟทำนายในเดือนมิ.ย.ว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอยู่ที่ 9.6 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2555 จะขยายตัว 9.5 เปอร์เซ็นต์

ไอเอ็มเอฟเผยว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อในจีนยังไม่หมดไป ซึ่งเงินเฟ้อเป็นปัญหาน่ากังวลสุดที่ส่งผลให้ราคาสินค้าทะยานสูงเกินประชาชนรับได้และอาจกลายเป็นปัญหาความไม่สงบในสังคมได้

แต่ความพยายามของรัฐบาลจีนในการควบคุมเงินเฟ้อ ก็เริ่มออกฤทธิ์บ้างแล้ว

รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า “ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงลิบของจีนนั้น ขณะนี้เริ่มคงตัวและอยู่ในระดับที่ลดลงมาบ้างแล้ว”

จีนได้งัดสารพัดมาตรการในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ตั้งแต่การจำกัดเงินสดสำรองธนาคาร การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากกระตุ้นให้คนฝากเงิน 5 ครั้งนับแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้วเป็นต้นมา

สัญญาณที่บ่งบอกว่ามาตรการเหล่านี้เริ่มออกฤทธิ์ก็คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือซีพีไอ ปรอทชี้วัดเงินเฟ้อ ในเดือนส.ค.อยู่ที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดลงมาจากเดือนก.ค.ก่อนหน้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า แรงกดดันเรื่องราคาสินค้าจะยังคงต้องทำให้รัฐบาลเร่งหามาตรการที่หวังว่าจะช่วยดับร้อนให้กับประชาชน และผ่อนคลายนโยบายทางการเงินให้ได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงนี้

นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าของจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้พักผ่อน เนื่องจากราคาสินค้าของจีนยังคงสูง เขาสัญญาว่าจะเร่งต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองให้จงได้

ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ปักกิ่งอนุญาตให้ตลาดเป็นตัวตัดสินว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งการทำเช่นนั้นจะช่วยกระตุ้นให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น และสามารถจัดการปัญหาต้นทุนทางการเงินต่ำได้ด้วย

แม้ว่าผู้นำจีนจะออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จีนเองก็ยังคงพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนมหาศาล เช่นนี้ถือว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่งและเสี่ยงต่อภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ

“แผนที่จะสร้างสมดุลทั้งภายนอกและภายใน จะต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ไอเอ็มเอฟย้ำ

“มีเพียงทางเดียวคือสร้างสมดุลเศรษฐกิจ ที่พวกเราหวังว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในภายภาคหน้าได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น