ASTVผู้จัดการออนไลน์/เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--หมูตัวหนึ่งในมณฑลเสฉวนรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ระหว่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เสฉวนเมื่อเดือนพ.ค. 2551 ชาวจีนทั่วประเทศต่างยกนิ้วให้กับความทรหดของมัน ที่สามารถมีชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพังนาน 36 วัน โดยกินถ่านหินและน้ำฝนประทังชีวิต จนมีผู้มาพบเข้า และได้ชื่อว่า “จู เจียนเฉียง” หมายถึงหมูผู้อดทนเข้มแข็ง และได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งและจิตวิญญาณของการไม่ยอมแพ้ในโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนร่วมแสนคน เจ้าของจู เจียนเฉียง ได้ขายเจียนเฉียงให้แก่พิพิธภัณฑ์เจี้ยนชวน สถานรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเสฉวน ในฐานะเครื่องเตือนใจถึง “การต่อสู้ดิ้นรนแห่งชาติ”
จู เจียนเฉียง ยอดหมูกระดูกเหล็กชื่อดังตัวนี้ ได้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อทายาทตัวน้อย 6 ตัว ได้ลืมตาดูโลกเมื่อไม่นานมานี้ แต่นี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์หรือความพิเศษประหลาดใด ที่เจ้าหมูจู เจียนเฉียง ซึ่งทั้งเป็นหมัน และแก่แล้ว ได้ให้กำเนิดลูกหมูครึ่งโหลนี้
สำนักงานใหญ่ของ Beijing Genomics Institute ในเมืองเซินเจิ้น ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กลุ่มนักวิจัยของสถาบันประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งจู เจียนเฉียง และได้ลูกหมู 6 ตัว โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้อุปกรณ์การทดลองทั่วไปและเทคโนโลยีใหม่ล้ำหน้า
ดร.ตู้ อี้ว์เทา หัวหน้าโครงการโคลนนิ่งเผยว่านักวิจัยประสบปัญหามากมายในการโคลนนิ่งหมูจอมอึดที่เป็นสัญลักษณ์ความอดทนแห่งชาติ เนื่องจากจู เจียนเฉียงถูกตอนก่อนแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังประสบอุบัติเหตุร้ายแรงใต้ซากหักพัง ดังนั้น จู เจียนเฉียง ดูไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเป็นต้นแบบในการโคลนนิ่งเลย ที่เลวร้ายที่สุดคือ มันเป็นหมูแก่ อายุ 5 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับอายุคน 60 ปี
“แต่เจ้าหมูตัวนี้ ก็สร้างความประหลาดใจแก่พวกเราอีกครั้ง” ดร.ตู้ กล่าว
ลูกหมูน้อยทั้งหกไม่เพียงเหมือนกับพ่อราวกับแกะ มีปานดำระหว่างตาเหมือนพ่อ ยังมีสุขภาพแข็งแรงมากและดูมีพลังมากกว่าลูกหมูคอกอื่นๆ
ลูกหมูโคลนนิ่งเหล่านี้อาจถูกแยกไปตามสถานที่ต่างๆ ได้แก่ สถาบันวิจัย Beijing Genomics Institute พิพิธภัณฑ์เจี้ยนชวน และ บริษัทอาหารสัตว์ New Hope Group และสปอนเซอร์โครงการฯอีกสองรายในเสฉวน
ตู้กล่าวว่าสถาบันฯจะเก็บลูกหมูไว้สองตัว เพื่อติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และทำการทดลองอื่นๆเพื่อให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ศึกษาด้านยีนส์ ที่ทำให้จู เจียนเฉียนมีความทรหดอดทนมาก
นอกจากคุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์แล้ว ผลงานโคลนนิ่งลูกหมูนี้ยังแสดงถึงความเป็นไปได้ของ ‘แฮนด์เมดโคลนนิ่ง’ (handmade cloning)
เทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งทำให้กระบวนการง่ายและมีราคาถูก
แต่ ดร.ฟัง สือหมิน นักวิจารณ์ด้านวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยา ในปักกิ่ง บอกว่าเขาไม่คิดว่าจู เจียนเฉียง มียีนส์ที่พิเศษใด เป็นเพราะมันเป็น ‘เซเลป’ ที่ช่วยในการโฆษณาเทคโนโลยีได้อย่างดีมากกว่า.