เอเอฟพี - กระทรวงวัฒนธรรมจีนสั่งแบนเว็บไซต์เพลงราว 100 เพลงของบรรดาศิลปินชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่ เลดี้กาก้า ไปจนถึงวงแบ็กสตรีทบอยส์
กระทรวงวัฒนธรรมจีนได้เผยบนเว็บไซต์ว่า การสั่งแบนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมระเบียบของตลาดเพลงบนอินเทอร์เน็ต และเพลงใดที่เข้าข่ายคุกคามความมั่นคงของรัฐจะถูกขจัดและควบคุมภายใต้กฎหมายจีน
ประกาศบนเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมจีน ระบุ (19 ส.ค.) ว่า เพลงที่ถูกแบน เช่น “The Edge of Glory” "Hair" "Marry the Night" และ "Bloody Mary" ของเลดี้กาก้า ศิลปินเพลงป็อปชาวมะกัน
เพลง "Bloody Mary" จบด้วยท่อน "Oh, liberdade, mi amor " ซึ่งมีความหมายว่า “โอ้ เสรีภาพที่รัก” เพลง "Hair" มีเนื้อเพลงว่า "This is my prayer / That I'll die living just as free as my hair" มีความหมายว่า “ฉันขอวิงวอน/ฉันขอตายเพื่อมีอิสระเหมือนเส้นผมของฉัน”
นอกจากนี้ ศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ ที่จะถูกแบน เช่น วงแบ็กสตรีทบอยส์, บียอนเซ่ นักร้องแนวอาร์แอนด์บีชื่อดัง, ซิมเปิล แพลน วงป็อปพังก์แคนาดา, วงเทกแดต (Take That) ศิลปินแนวป็อปเมืองผู้ดี
รัฐบาลจีนเคยแบนเพลงของจัง ฮุ่ยเม่ย ศิลปินไต้หวัน และไม่ให้เธอมาแสดงคอนเสิร์ตบนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่เธอได้ขับร้องเพลงชาติไต้หวันในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันของนายเฉิน สุยเปี่ยน เมื่อปี 2543
รัฐบาลจีนได้สั่งห้ามวงดนตรีต่างชาติบางวงมาแสดงคอนเสิร์ตบนแดนมังกร สำหรับวงที่ได้รับอนุญาตให้แสดงได้จะต้องผ่านการตรวจสอบรายชื่อและเนื้อเพลงอย่างละเอียด
เมื่อปี 2551 Bjork ราชินีบทเพลงจากไอซ์แลนด์ได้เปิดคอนเสิร์ตในเซี่ยงไฮ้ และได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้นำจีน ด้วยบทเพลงปิดการแสดง “Declare Independence” อีกทั้งเมื่อร้องเพลงจบ เธอยังได้ตระโกนก้องว่า “ทิเบต!”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 จีนได้กำหนดว่าบทเพลงทุกเพลงจะต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อน จึงเผยแพร่ในเว็บไซต์เพลงได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์
อนึ่ง รัฐบาลจีนเข้มงวดในการเฝ้าระวังและควบคุมตรวจสอบเนื้อหาเพลงและข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่แฝงนัยการเมืองและประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง