xs
xsm
sm
md
lg

มะกันปฏิเสธขายเอฟ-16 รุ่นใหม่ให้ไต้หวัน แต่จะยกเครื่องฝูงบินเก่าให้แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในภาพเครื่องบินขับไล่เอฟ – 16ไฟท์ติ้ง ฟัลคอน รุ่นซี/ดี ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ(ภาพเอเยนซี)
โกลบอล ไทมส์ - สหรัฐฯได้ปฏิเสธที่จะขายเครื่องบินขับไล่เอฟ - 16 รุ่นใหม่แก่ไต้หวัน แต่เสนอที่จะช่วยพัฒนาฝูงบินขับไล่เอฟ - 16 รุ่นที่กองทัพไต้หวันใช้อยู่ แม้ว่าบรรดานักวิเคราะห์ได้เตือนว่าข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-มะกัน

ดีเฟนส์ นิวส์ นิตยสารกลาโหมไต้หวัน รายงาน(14 ส.ค.)ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ไต้หวันว่าสหรัฐฯจะไม่ขายเครื่องบินขับไล่เอฟ -16 รุ่นซี/ดี ให้แก่กองทัพไต้หวัน หลังจากที่ไต้หวันได้ขอซื้อเครื่องบินขับไล่ฯจากสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2549 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯได้เสนอที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับฝูงเครื่องบินขับไล่เอฟ -16 รุ่นเอ/บี ที่ไต้หวันมีอยู่ เป็นการทดแทน

เจ้าหน้าที่ไต้หวันรายหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เรา(ไต้หวัน) รู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯอย่างมาก”

หลัว เซ่าเหอ โฆษกกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “เราได้ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯอยู่เป็นประจำ และในครั้งสุดท้ายพวกเขา(สหรัฐฯ)บอกว่าการขายเครื่องบินขับไล่ฯ ยังไม่แน่ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ ขณะที่เราต้องการเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่อย่างเร่งด่วน”

ก่อนหน้านี้ วอชิงตันได้ให้คำมั่นว่าจะตัดสินอนุมัติการขายเครื่องบินขับไล่เอฟ - 16 รุ่นซี/ดี จำนวน 66 ลำ ให้แก่กองทัพไต้หวันหรือไม่ ภายในวันที่ 1 ต.ค.2554

ข้อมูลจากดีเฟนส์ นิวส์ ระบุ แพคเกจการอัพเกรดพัฒนาของสหรัฐฯ มูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เครื่องบินขับไล่เอฟ -16 รุ่นเอ/บี จำนวน 146 ลำของกองทัพไต้หวันมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีการติดตั้งระบบอุปกรณ์ใหม่ อาทิ ระบบเรดาร์ AESA(Active Electronically Scanned Array) ซึ่งมีความสามารถและมีความละเอียดสูง ใช้งานได้ทั้งแบบอากาศสู่อากาศ และอากาศสู่พื้นดิน ทั้งมีการตรวจจับแบบ passive scan ที่รวดเร็วต่อทุกๆเป้าหมาย เมื่ออยู่ในขั้นตอนการโจมตีจะทำให้มีความแม่นยำในการโจมตีสูงมาก

การที่สหรัฐฯขายอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ไต้หวันถือเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยในปี 2553 หลังจากที่สหรัฐฯได้อนุมัติขายขายอาวุธแก่ไต้หวัน มูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักลง อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา(2554) เจ้าหน้าที่ระดับสูงจีน-มะกัน ได้พบปะหารือกันหลายครั้ง รวมทั้งการเยือนสหรัฐฯของ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน ทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองชาติได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการ(17 ส.ค.) ตามคำเชิญของสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนโดยสื่อรายงานว่า ไบเดน จะพบปะกับหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน และสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีจีนคนต่อไป พร้อมทั้งหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจีนในประเด็นร้อนต่างๆ อาทิ ประเด็นวิกฤตหนี้สหรัฐฯ และประเด็นการขายอาวุธให้ไต้หวัน

นักวิเคราะห์ชี้ สหรัฐฯไม่รักษาสัญญา

เผิง กวงเชียน ผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์การทหาร กล่าวกับโกลบอล ไทมส์ว่า “แม้สหรัฐฯยังไม่อนุมัติว่าจะขายเครื่องบินขับไล่ฯให้ไต้หวัน แต่จีนก็รับไม่ได้ที่มีการพิจารณาหารือในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยจีน อีกทั้งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ”

พร้อมชี้ว่า “ไม่ว่าสหรัฐฯจะอัพเกรดเครื่องบินขับไล่เอฟ - 16 รุ่นเอ/บี หรือจะขายเครื่องบินขับไล่เอฟ - 16 รุ่นซี/ดี ให้แก่ไต้หวัน ก็ล้วนเป็นการกระทำที่จีนไม่อาจยอมรับได้”

กู้ กั๋วเหลียง ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและศึกษาการป้องกันการแพร่ขยายสรรพาวุธแห่งสำนักสังคมศาสตร์จีน ได้เผยว่า “สหรัฐฯไม่เคยรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ ซึ่งระบุไว้ว่าสหรัฐฯจะค่อยๆลดการขายอาวุธให้ไต้หวัน”

“พวกเขา(สหรัฐฯ)ตัดสินจากความต้องการทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของจีน และวอชิงตันจะใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นเครื่องมือกดดันจีน”

พร้อมกล่าวต่อว่า “บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควรตัดสินใจอย่างรอบคอบเนื่องจากข้อตกลงขายอาวุธให้ไต้หวันอาจทำให้สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯตกต่ำลงอีก ซึ่งสหรัฐฯคงไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น ด้วยว่าขณะนี้สหรัฐฯกำลังเผชิญวิกฤตหนี้และจีนก็เป็นชาติผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากสุด”

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วม3 ฉบับ ที่จีน-สหรัฐฯ ได้ร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2525 ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ดำเนินนโยบายการขายอาวุธแก่ไต้หวันในระยะยาว และจะค่อยๆลดการขายอาวุธแก่ไต้หวันลง เพื่อยุติปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-มะกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่ากับ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯราว 1.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

การประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของสหรัฐฯลงจากระดับ AAA เหลือ AA+ โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากจีน โดยสื่อได้รายงานว่าวิกฤตหนี้ดังกล่าวได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของกองทัพสหรัฐฯที่มีการใช้จ่ายด้านการทหารอันมหาศาล ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้จีนใช้อำนาจทางการเงินขัดขวางการขายอาวุธให้ไต้หวันของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น