xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกจีนเยือนฮ่องกง เพิ่มความเชื่อมั่น พร้อมย้ำจุดยืนปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง (ขวา) พูดคุยกับโดนัลด์ ซัง หัวหน้าคณะบริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง (ซ้าย) ช่วงที่เพิ่งลงจากเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานฮ่องกง (16 ส.ค.) ภาพเอเอฟพี
เอเอฟพี - รองนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ตัวเก็งตำแหน่งผู้นำระดับสูงของจีนในปีหน้า เดินทางเยือนฮ่องกงวันนี้ (16 ส.ค.) โดยหวังว่าจะบรรเทาความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง

หลี่ ผู้นำจีนคนสำคัญที่คาดว่าจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อจากนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า เดินทางเยือนฮ่องกงเป็นเวลา 3 วัน โดยมีแผนว่าจะได้เจรจาสัมพันด้านเศรษฐกิจกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

โดนัลด์ ซัง หัวหน้าคณะบริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง เป็นเกียรติต้อนรับหลี่และคณะ ณ สนามบินฮ่องกง ซึ่งรองนายกหลี่วัย 56 ปี ก็เผยว่า “เขาจะประกาศมาตรการสนับสนุนฮ่องกงให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงิน”

“การเยือนในครั้งนี้แสดงให้เห็นความกังวลของรัฐบาลกลางและการสนับสนุนการพัฒนาฮ่องกงด้วย” หลี่ กล่าวกับนักข่าว

“ผมหวังว่าจะได้รับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮ่องกงอย่างลึกซึ่ง”

วิลลี่ ลาม ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ แห่ง ไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง เผยว่า “การเดินทางครั้งนี้ หลี่ยังต้องการยกระดับความน่าเชื่อถือของตัวเขาเอง เนื่องจากนายกฯเวินจะลงจากตำแหน่งในปี 2556 อันใกล้นี้ ทำให้เขาได้โอกาสในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองด้วย”

ลาม บอกกับเอเอฟพีว่า “การเดินทางในครั้งนี้มีนัยยะเรื่องการเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำของจีนซึ่งจะเกิดขึ้น 10 ปีครั้งด้วย”

“ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลี่ได้ระมัดระวังอย่างมากเรื่องความผิดพลาด เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับอำนาจของเขา”

“การเดินทางเยือนเกาะฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และหวนคืนสู่จีนเมื่อปี 2540นั้น ผู้นำจีนที่จะสามารถเยือนอย่างเป็นทางการได้ จะต้องเป็นผู้นำระดับสูงเท่านั้น ดังนั้นการเยือนในครั้งนี้ก็รับรองได้ว่า หลี่จะได้เป็นนายกคนต่อไปอย่างแน่นอน” ลาม ชี้

การเยือนในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สัมพันธ์กับฮ่องกงกำลังตึงเครียด แม้ว่าจีนจะเพิ่มการบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยให้ฮ่องกงกลายเป็นตลาดทดลองผลักดันเงินหยวนสู่สากล เพื่อแข่งขันกับสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ก็ตาม

ความตึงเครียดปะทุเมื่อเดือนที่ผ่านมา เมื่อ หวัง กวงย่า ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ภายใต้คณะมุขมนตรีจีน ออกมาพูดว่า เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของเมืองที่มีรากเหง้าภายใต้อาณานิคมมาก่อน (หมายถึงฮ่องกงมาเก๊า) พวกเขาไม่มีวันรู้วิธีการเป็นผู้นำ
ชายผู้ประท้วงคนเดียว (กลาง) มีตำรวจขนาบอยู่ พยายามส่งเสียงไปยังหลี่เค่อเฉียง หน้าโณงแรมที่พัก (16 ส.ค.) ภาพเอเอฟพี
“หลี่พยายามทำตัวให้กลายเป็นที่รักของฮ่องกง และเน้นว่า นโยบายที่จีนกำหนดออกไปนั้น จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” ลามกล่าว

“หลี่จะต้องเผชิญกับการสร้างสมดุล และควรต้องหยุดแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองในฮ่องกง หลังจากเกิดการปฏิวัติในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง”

“รู้สึกว่าปักกิ่งจะอ่อนไหวไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนปักใจเชื่อว่าเป็น ภัยคุกคาม ต่อระบอบ”

ฮ่องกงใช้ระบบการเมืองและกฎหมายของตนเอง ตามที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนใช้กับเขตบริหารพิเศษหลังจากหวนคืนสู่การปกครองของจีน พร้อมกับให้การรับรองเสรีภาพพลเรือนฮ่องกง ซึ่งแตกต่างกับคนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง

รัฐบาลฮ่องกงต้องเผชิญกับปัญหาความโกรธของสาธารณชนเรื่องราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง ขณะที่มีการประท้วงหลายครั้งเรียกร้องให้ปักกิ่งเร่งทำการปฏิรูปการเมืองตามสัญญา รวมทั้งการเลือกตั้งผู้นำฮ่องกงโดยตรงด้วย

คาดว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมบ้างในช่วงการเยือนของหลี่ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับจีนที่ถูกกักกขังไว้ พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงจีนที่คร่าชีวิตไป 40 คน

การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ นอกจากหลี่แล้ว เฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีพาณิชย์จีน โจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติจีน และจัง ผิง ประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ก็เดินทางมาด้วย

ฮ่องกง คอมเมอเชียล เดลี ขึ้นหน้า 1 วานนี้ ว่า “การที่ผู้นำระดับสูงฮ่องกงมาต้อนรับหลี่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นสัญญาณที่แน่นอนว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฮ่องกงและกระชับสัมพันธ์ต่อกันได้แน่นอน”

หลี่ เป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเหลียวหนิง ถือว่าเป็นผู้นำระดับมณฑลที่อายุน้อยสุดของจีน และเขาได้เลื่อนมาประจำมณฑลเหอหนานเมื่ออายุ 43 ปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาความปลอดภัยให้หลี่ เค่อเฉียง เมื่อเดินทางมาถึงฮ่องกง (ภาพเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น