xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแสนแฮปปี้ของหนุ่มผู้หันมาเอาดีทางเลี้ยงสุกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิว อี้ว์แห่งฟาร์มผสมพันธุ์สุกรในเมืองฉงชิ่ง - ไชน่าเดลี่
ไชน่าเดลี - คนบางคนคิดว่า อาชีพมีเกียรติคืออาชีพที่ได้ทำงานอยู่ในสถานที่สะอาด และสะดวกสบาย แต่ชายหนุ่มวัย 26 ปีอย่างหลิว อี้ว์ ไม่คิดเช่นนั้น

เขากลับเลือกทำงานเป็นคนผสมพันธุ์สุกร ซึ่งแต่ละวันต้องใช้ชีวิตขลุกอยู่แต่ในเล้าสุกร หรือเล้าหมู อันเป็นสถานที่ทำงาน ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า จะกลับกลายเป็นวิมานสำหรับชายหนุ่มเลือดมังกรรายนี้

หลิวเข้าทำงานที่ศูนย์ผสมพันธุ์ของบริษัทหลงเซิง ซึ่งตั้งอยู่แถบชานเมืองฉงชิ่งมาตั้งแต่ปี 2550 ฟาร์มแห่งนี้สร้างอยู่บนยอดเนิน โอบล้อมด้วยหน้าผา 3 ด้าน มีพนักงานทั้งหมด 28 คน ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ราว 1,000 ตัว

“ผมว่าตัวเองโชคดีนะ ที่ได้ทำงานนี้ เพราะเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่มีประวัติการศึกษาดีกว่าเสียอีก ไอ้เรามันก็จบแค่วิทยาลัย บางคนจบมหาบัณฑิตแน่ะครับ” เขาอารัมภบท

หลิวชอบพูดอยู่เสมอว่า เนื้อหมูนี่แหละคือสิ่งจำเป็น ที่จะขาดเสียมิได้เลยบนโต๊ะอาหาร

เขาเคยช่วยเตี่ยกับแม่เลี้ยงหมูและวัวเมื่อสมัยเด็ก ๆ แล้วก็พบว่า น้องหมูเป็น “สัตว์ที่ฉลาดและซื่อสัตย์”

“กับหมู คุณต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก ถ้าไปเตะ ไปตะคอกใส่ หรือใช้ไม้เรียวผลักไส พวกเขาจะจำได้” หลิวให้ความรู้จากประสบการณ์

“แต่ถ้าปฏิบัติอย่างสุภาพนุ่มนวล พวกหมูก็จะดีกับคุณพอ ๆ กัน”

ทุกครั้งที่ชายหนุ่มผู้นี้ก้าวเข้าไปในคอกของลูกหลานพญาหมูตือโป๊ยก่าย น้องหมูบางตัวจะลุกขึ้นยืนส่งเสียงร้องคล้ายกับกำลังพูดอะไรบางอย่าง ไม่ก็กระโดดเป็นการทักทายกันเล็กน้อย

“นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขที่สุดเวลาทำงาน” หลิวบอก

หลิวและเพื่อนร่วมงานอาศัยในห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างจากเล้าหมูไม่กี่ก้าว จึงคุ้นชินกับกลิ่นตัวของน้องหมูอู๊ด อู๊ดเหล่านั้น

หลิวทำงานทุกวันตั้งแต่เวลา 7.30 น.-11.30 น. และจาก 2.30 น.-6.30 น. โดยมีหน้าที่หลักได้แก่การให้อาหาร ทำความสะอาดเล้า และเป็นผู้จัดการผสมพันธุ์

พองานเลิก เขาชอบมาเล่นอินเทอร์เน็ต และแช้ตกับเพื่อน ๆ ในโลกไซเบอร์ ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยในการทำงานของเขาอย่างมาก

สำหรับการให้อาหารนั้น หลิวจะคำนวณว่า หมูแต่ละตัวต้องกินอาหารมากน้อยแค่ไหน โดยพิจารณาจากน้ำหนักตัว เพศ และปัจจัยอื่น ๆ เช่นการตั้งท้อง

จากนั้น จะนำขวดปากกว้างมาวางเบื้องหน้าน้องหมู แล้วเปิดสวิตช์ไฟ อาหารจะไหลผ่านท่อ ซึ่งติดตั้งอยู่บนหลังคา ลงมาจนเต็มขวด ให้ลูกหลานตือโป๊ยก่ายเขมือบกินอย่างเอร็ดอร่อย

การเลี้ยงสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ฟาร์มแห่งนี้มีความทันสมัย โดยพวกมันอาศัยอยู่ในห้องปลอดเชื้อ และอาบน้ำทุกวัน

"หมูสำหรับผสมพันธุ์พวกนี้แตกต่างจากหมู ที่เลี้ยงเพื่อชำแหละเป็นอาหาร พวกมันมีหมายเลขประจำตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งถูกเก็บข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณจะหาลักษณะพันธุกรรมของหมูแต่ละตัว และดูว่าควรจับคู่กับตัวไหนถึงจะดีที่สุด" หลิวอธิบาย

"ตามปกติแล้ว สุกรตัวผู้จะผสมพันธุ์กับแม่สุกร 25-30 ตัว และการจับคู่ถูกกำหนดเจาะจงแน่นอน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกสุกรจะได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีที่สุด" เขากล่าว

เมื่อแม่หมูตั้งท้อง ก็จะถูกส่งไปเลี้ยงดูในคอกพิเศษ ซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ และเปิดเพลงของ "หลาง หล่าง" นักเปียโนชื่อดังของจีนให้ฟังตลอดทั้งวัน

ลูกหมูตัวน้อย ๆ จะคลอเคล้าอยู่กับแม่ของมันภายในคอกแห่งนี้เป็นเวลา 28 วัน จากนั้นจะถูกหย่านมด้วยการแยกนำไปเลี้ยงยังคอกอื่น ซึ่งหลิวกับเพื่อน ๆ เรียกว่า "โรงเรียนอนุบาลน้องหมู"

หลังจากอยู่ในโรงเรียนอนุบาลนาน42 วัน ก็จะถูกส่งไปยัง "โรงเรียนประถม" รอจนกระทั่ง น้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ลูกหมูเหล่านี้ก็จะเข้าสู่วงจรการนผสมพันธุ์ครั้งใหม่

ช่วงเวลาที่หลิวรู้สึกสนุกขบขันมากที่สุดในการทำงานอาชีพนี้ก็คือตอนที่ลูกหมูเจริญเติบโตขึ้น และรู้จักหยอกล้อ เป็นเพื่อนกับมนุษย์

ในอดีตนั้น ฟาร์มผสมพันธุ์สุกรในจีนต้องพึงการนำเข้าสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากต่างประเทศเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน นายหลี่ ซื่อเหว่ย หัวหน้าแผนกสัตวบาลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสฉวนระบุว่า จีนได้นำเข้าสุกร ซึ่งมีพันธุกรรมบริสุทธิ์ และส่งเสริมโครงการผสมพันธุ์ตามฟาร์มต่าง ๆ เพื่อขยายประชากร"

เมื่อปี 2551 ฟาร์มของหลิวลงทุนจำนวน 8 ล้านหยวน เพื่อนำเข้าสุกร 630 ตัวจากแคนาดา เพื่อผลิตสุกรสำหรับการผสมพันธุ์ด้วยตนเอง และกลายเป็นฟาร์มหนึ่งในจำนวนไม่กี่แห่ง ที่มีการบริหารควบคุม เพื่อรักษาพันธุกรรม ที่ดีของสุกรนำเข้าไว้

อย่างไรก็ตาม หลิวระบุว่า ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุกรนำเข้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อผู้บริโภคหันมาชอบรับประทานเนื้อหมูไร้มัน

"ดังนั้น การเลี้ยงสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ที่มีคุณภาพสูงย่อมมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาคุณภาพเนื้อหมูในจีน" หนุ่มหลิวกล่าวอย่างเป็นงานเป็นการในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น