เอเอฟพี -ลุงหวัง ซ่งเหลียน วัย 66 ปี เป็นคนในอำเภอปาตง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแยงซี ใน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน)
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เกิดเรื่องน่าหวาดเสียวขึ้น เมื่อโคลนบริเวณไหล่เขาพังถล่มลงมา เสียงดังสนั่นอื้ออึง พลังมหาศาลกระแทกบ้านของลุงหวัง และของเพื่อนบ้านอีกกว่าสิบหลัง หวุดหวิดตกลงไปในหุบเหวลึก
มันเป็นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวก็จริง แต่แทบจะไม่ใช่ข่าวใหม่อะไรในอำเภอแห่งนี้ ซึ่งปรากฎร่องรอยของการเกิดแผ่นดินถล่มบ่อยครั้งอยู่ทั่วไป และผู้คนในท้องถิ่นบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ซึ่งเป็นผลจากการสร้างเขื่อนสามโตรก โดยเฉพาะแผ่นดินไหวที่อำเภอเวิ่นชวนเมื่อปี 2551 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คน หรือมีผู้สูญหายถึง 87,000 คนในมณฑลซื่อชวน
“ก็เพราะเขื่อนนี่แหละครับ ตั้งแต่ปี 2546 มาแล้ว (เมื่ออ่างเก็บน้ำของเขื่อนเริ่มมีน้ำเต็ม) ที่เกิดแผ่นดินถล่มและแผ่นดินไหวมากกว่าแต่ก่อน เห็นชัด ๆ ว่า มันอันตรายขึ้น” ลุงหวังกล่าว
ปัญหาของชาวบ้านในอำเภอปาตงกลายเป็นประเด็นโต้เถียงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อรัฐบาลจีนเองออกมายอมรับเมื่อเดือนพ.ค.ว่า เขื่อนสามโตรกก่อให้เกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง
รัฐบาลจีนเคยภาคภูมิใจมาเป็นเวลานานว่า โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำใหญ่ที่สุดในโลกนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสามารถด้านวิศวกรรมของจีน เป็นทางออกของปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี แม่น้ำสายยาวที่สุดบนแดนมังกร และยังเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจีนกำลังต้องการอย่างที่สุด
เขื่อนสามโตรกก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2537 แม้มีเสียงเตือนเรื่องน้ำหนักอันมหาศาลของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนว่าจะทำให้สภาพทางธรณีวิทยาในพื้นที่ตอนกลางของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัวอันตราย
ทว่ารัฐบาลจีนปัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนนักวิจารณ์บางคนก็ถูกขังคุก แต่ปัญหานานับประการเกิดขึ้นมาถึงระดับที่รัฐบาลมิอาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อีกต่อไป
แพทริเชีย อดัมส์ หัวหน้ากลุ่ม “โพร้บ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Probe International) ในเมืองโตรอนโต แคนาดา ระบุว่า พวกผู้นำจีนกำลังดำเนินการปกปิด เพราะเขื่อนสามโตรกกำลังจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการตัดสินใจ ที่ผิดพลาดของฝ่ายการเมืองในจีน
เขื่อนสามโตรกตั้งอยู่ในมณฑลหูเป่ย เป็นอ่างเก็บน้ำแผ่ยาวเหยียดถึง 600 กิโลเมตรผ่านตลอดภูมิภาคสามโตรก ทว่าเป็นจุดที่รอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกมาตัดไขว้กันพอดี ซึ่งนักวิจารณ์มักอ้างว่า จะเกิดแผ่นดินสั่นสะเทือนรบกวน หรือแม้กระทั่งเกิดแผ่นดินไหว ที่จะก่อหายนะภัยใหญ่หลวง
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลจีนรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า นับตั้งแต่ปี 2546 เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งส่วนใหญ่ต่ำกว่า 3.0 ริกเตอร์ เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าในภูมิภาคดังกล่าว ขณะที่พื้นที่ลาดเอียงไม่มีความมั่นคง
เขื่อนสามโตรกถูกวิจารณ์หนักในปีนี้ หลังจากเกิดภาวะแห้งแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีในภาคกลางของจีน ทำให้ทะเลสาบขนาดใหญ่ส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ใต้เขื่อน และเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับภูมิภาคกลายเป็นทุ่งหญ้า
หม่า จวิ่น ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ วิกฤตน้ำของจีน” (China’s Water Crisis) ระบุว่า ขณะนี้ประชาชนตระหนักแล้วว่า เขื่อนสามารถลดระดับน้ำท่วมสูงสุดได้ ซึ่งก็หมายความว่าจะมีน้ำไหลลงทะเลสาบน้อยลงไปด้วย เป็นการลดแหล่งทรัพยากรน้ำในภูมิภาคอย่างมาก นอกจากนั้น ยังทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลง เพราะความสามารถในการระบายน้ำตามธรรมชาติของแม่น้ำเสื่อมลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคน ที่มีอาชีพการประมง การเกษตร และการค้าในแถบลุ่มน้ำแยงซี
อดัมส์ชี้ว่า สุดท้ายแล้วเขื่อนสามโตรกจะก่อให้เกิดรายจ่ายไม่มีที่สิ้นสุดในการแก้ไขปัญหาด้านอุทกวิทยาและธรณีวิทยา ซึ่งมีต้นตอมาจากการก่อสร้างเขื่อนยักษ์แห่งนี้