xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘คริสตศาสนา’ สั่นคลอนแผ่นดินจีน

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การประกอบพิธีกรรมของคริสตชนจีน-เอเยนซี
ภายหลังกระแสการปฏิวัติดอกมะลิ สร้างความหวาดหวั่นให้กับรัฐบาลจีน การควบคุมสื่อและความเคลื่อนไหวทางสังคมก็เป็นไปอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ไอ้ เว่ยเว่ย หรือการควบคุมการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอียิปต์และตูนิเซีย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปราบปรามและควบคุมดังกล่าว กลับปรากฏสิ่งที่สร้างความฉงนให้กับ ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวไทยไม่น้อย คือการกวาดล้างโบสถ์คริสต์ใต้ดินในจีน

โบสถ์ใต้ดินคืออะไร? คริสต์ศาสนา ไปเกี่ยวกับ การเมือง ได้อย่างไร? และ ทำไมรัฐบาลจีนจึงกังวลนัก?

หลังพรรคคอมมิวนิสต์ครองแผ่นดินจีนในปี 1949 พรรคได้จัดตั้งองค์กร คณะกรรมการเพื่อความเคลื่อนไหวไตรอัตตะของชาวโปรแตสแตนท์ผู้รักชาติแห่งประเทศจีน ( 中国基督教三自爱国运动委员会- เพื่อความสะดวกต่อไปจะย่อว่า คณะกรรมการไตรอัตตะ) ขึ้นมาควบคุมโบสถ์โปรเตสแตนต์ทั่วประเทศ การเผยแผ่ศาสนาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐ หากโบสถ์ไหนไม่ทำการลงทะเบียน และเข้าร่วม คณะกรรมการไตรอัตตะ ก็จะถือว่าเป็นโบสถ์ใต้ดิน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โบสถ์ใต้ดินกลับมีจำนวนไม่น้อย และขยายตัวมากขึ้น พร้อมไปกับจำนวนคริสตชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ปลายทศวรรษ 1970 ที่บรรยากาศทางการเมืองหลังการเปิดประเทศค่อนข้างผ่อนคลาย ข้อมูลจากการสำรวจของทางการพบว่าเฉพาะมณฑลเฮยหลงเจียง การทวีจำนวนของคริสตชนเป็นไปอย่างน่าสนใจกล่าวคือ จาก 35,000 คนในปี 1985 เพิ่มเป็น 300,000 คนในปี 1995 หรือเพิ่มขึ้นราว 10 เท่า ส่วนในภาพรวมทั่วประเทศ การรายงานข่าวของไชน่าเดลี่เมื่อปี 2010 ชี้ว่า มีประชากรชาวคริสต์มากกว่า 23 ล้านคน

จำนวนผู้เข้ารีตที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บรรยากาศแห่งยุคสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนสร้างความรู้สึกไม่มั่นคง ขณะเดียวกันอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจมาตลอด กลับอ่อนพลังลง และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน จนไม่สามารถให้คำตอบกับปัญหาของชีวิตได้ ชาวจีนจำนวนไม่น้อยจึงหันหน้าเข้าหาศาสนาเป็นที่พึ่ง

ทั้งที่มีโบสถ์สังกัด คณะกรรมการไตรอัตตะ จำนวนไม่น้อย ทว่าชาวจีนกลับนิยมการเข้าโบสถ์ใต้ดินมากกว่า กระทั่งกล่าวได้ว่า จำนวนคริสตชนที่สังกัดโบสถ์ใต้ดินมีจำนวนมากกว่าโบสถ์ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการไตรอัตตะ

การที่อำนาจรัฐเอื้อมไม่ถึงโบสถ์ใต้ดิน ทำให้รัฐมีความกังวลมาก เพราะไม่สามารถควบคุมคำสอนของบาทหลวงและการชุมนุมของสมาชิกโบสถ์ใต้ดิน ทำให้ไม่รู้ว่าคำสอนจะก่อให้เกิดความคิดต่อต้านรัฐบาลจีนหรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลจีนยังมีวิธีคิดว่าการชุมนุมทางสังคมใดๆอาจแปรเปลี่ยนเป็นการชุมนุมทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด หากล้ำเส้นที่รัฐขีดก็จะต้องถูกปราบปราม เช่น ลัทธิฝ่าหลุนกง
การสนทนาระหว่างรับประทานอาหารในโรงเรียนสอนศาสนา-เอเยนซี
กล่าวสำหรับโบสถ์ใต้ดินแล้ว การจัดตั้งองค์กรและรูปแบบความเคลื่อนไหว ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลมาก ผู้ที่สังกัดโบสถ์ใต้ดินมักมีการนัดรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ และมีความสัมพันธ์ทางสังคมกันเหนียวแน่น เพราะการชักจูงสมาชิกใหม่จำต้องทำอย่างระมัดระวัง ส่วนมากจึงเกิดจากการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการดึงคนที่ไว้ใจได้เข้าเป็นสมาชิก หรือไม่ก็เกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะชวนเข้าโบสถ์ ทำให้สมาชิกแต่ละคนค่อนข้างไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆได้ ต่างจากโบสถ์สังกัด คณะกรรมการไตรอัตตะ ที่สมาชิกมีข้อกังวล เกี่ยวกับการสนทนาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะไม่รู้ว่าคนที่คุยด้วยจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่แฝงตัวมาหรือไม่

การที่โบสถ์ใต้ดินแต่ละแห่ง ไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ แต่กลับมีการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน จนกลายเป็นเครือข่ายระดับชาติ กอปรกับการที่สมาชิกมีการนัดพบกันอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ และมีการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างเหนียวแน่น อีกทั้งอำนาจรัฐยังเอื้อมไปควบคุมไม่ถึง ทำให้รัฐกังวลเกี่ยวกับอุดมการณ์ความคิดของสมาชิกโบสถ์ใต้ดินเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนจำนวนมหาศาล

ยิ่งในบริบททางสังคมในปัจจุบัน ที่กระแสความนิยมต่อวิถีชีวิตแบบตะวันตกพัดพาเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ การนับถือ คริสตศาสนาโดยเฉพาะนิกายโปรเตสแตนต์ ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ความก้าวหน้า เสรีภาพ และความเป็นสากล แบบตะวันตก กระทั่งทำให้เยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากหันเข้าหาคริสตศาสนา

การปฏิวัติใดๆ ก็ตามมักอาศัยพลังของคนหนุ่มสาวเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นการหันไปนับถือคริสตศาสนาของคนหนุ่มสาวจึงกลายเป็นเรื่องที่น่ากังวลด้วย
การประกอบพิธีกรรมในโบสถ์ใต้ดินแห่งหนึ่ง-เอเยนซี
มองในเชิงประวัติศาสตร์ คริสตศาสนาที่ผสานเข้ากับรากฐานความคิดแบบจีนก็เคยสั่นคลอนรัฐอย่างรุนแรง

ระหว่างค.ศ. 1850-1864 บุรุษนาม หง ซิ่วฉวน นำกองทัพชาวนาก่อกบฏไท่ผิงต่อราชวงศ์ชิง หงได้รับอิทธิพลความคิดคริสตศาสนา เขาเชื่อว่าตนเป็นน้องของพระเยซู และได้พัฒนานำหลักของคริสตศาสนามาดัดแปลงผสมผสานกับวัฒนธรรมความคิดของจีนเป็นคำสอน ต่อต้านอำนาจและระเบียบทางสังคมที่ค้ำจุนราชวงศ์ชิงอย่างรุนแรง

ตำราประวัติศาสตร์ฉบับพรรคคอมมิวนิสต์ยกย่องกบฏไท่ผิงว่า เป็นผู้รักชาติ ที่ต่อสู้กับอิทธิพลต่างชาติอย่างแข็งขัน ทว่าการยกย่องนั้นก็เป็นไปเพื่อการปลุกเร้าชาตินิยมจีน ให้กลายมาเป็นแกนในการยึดโยงประชาชนเข้าด้วยกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยอมรับความคิดทางศาสนาแต่อย่างใด

แม้จะยกย่องกบฏไท่ผิง แต่พรรคคอมมิวนิสต์เองก็หวาดระแวงในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับความเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งทำให้พรรคควบคุมการเผยแผ่ศาสนาอย่างเข้มงวด ข่าวคราวการปราบปรามโบสถ์ใต้ดินจึงมักปรากฏขึ้นเสมอ เพราะเรื่องศาสนาเป็นประเด็นอ่อนไหวที่พรรคคอมมิวนิสต์หวาดระแวง
กำลังโหลดความคิดเห็น