xs
xsm
sm
md
lg

จับ คนเลี้ยงหัวใส ให้ไก่กินแบเรียมเพิ่มน้ำหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในภาพเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งเทศบาลนครฉงชิ่ง กำลังตรวจสอบไก่บนรถบรรทุกที่ลำเลียงมาจากมณฑลกุ้ยโจว เมื่อวันที่ 8พ.ค.2554 (ภาพไชน่า เดลี่)
ไชน่า เดลี / เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ - เจ้าหน้าที่แห่งเทศบาลนครฉงชิ่งตรวจพบและคุมตัว เจ้าของฟาร์มไก่หัวแหลม ให้อาหารไก่นับพันตัว ด้วยผงแบเรียม หวังเพิ่มน้ำหนักตัวของไก่ เพื่อโก่งราคาสูง

ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส รายงาน(10 พ.ค.) ว่า ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางคืนวันเสาร์(7 พ.ค.) จนถึงช่วงเช้าวันอาทิตย์(8 พ.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งเทศบาลนครฉงชิ่ง เจ้าหน้าที่สำนักงานรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และเจ้าหน้าที่ทางหลวง ได้ร่วมกันตรวจสอบรถบรรทุก 2 คัน ที่ขนส่งไก่เกือบพันตัว จากมณฑลกุ้ยโจว มายังมหานครฉงชิ่ง

รายงานข่าวระบุว่า เหล่าเจ้าหน้าที่ฯได้ตรวจสอบและสกัดรถบรรทุกดังกล่าว บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางฉงชิ่ง-กุ้ยโจว โดยเจ้าหน้าที่ฯ สังเกตเห็นท้องของไก่ ท้วมอูมผิดปกติ จึงสั่งให้คนขับรถบรรทุก ส่งไก่ไปตรวจสอบที่สำนักงานตรวจสอบและกักกันประจำเทศบาลนครฉงชิ่ง

ผลการตรวจสอบระบุว่า มีผงสีเทาๆอยู่ภายในกระเพาะของไก่เหล่านั้น

ขณะที่ เจ้าของฟาร์มไก่ แห่งเขตจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว ยอมรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ฯว่า ไก่บนรถบรรทุกคันดังกล่าว เลี้ยงด้วยการให้กินผงแบไรต์ 300 - 400 กรัม

ถัง ชวน เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ฯ เผยว่า ปฏิบัติการตรวจสอบรถบรรทุกครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการได้รับแจ้งจากผู้บริโภคท้องถิ่นฉงชิ่ง ว่า พบสารไม่ทราบชนิดในระบบทางเดินอาหารของไก่เหล่านั้น ที่ซื้อมาจากตลาดท้องถิ่นฉงชิ่ง ซึ่งเกรงว่าอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

นับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งเทศบาลนครฉงชิ่ง ได้ลุยตรวจสอบพร้อมทั้งเก็บตัวอย่างสินค้าจากตลาดค้าสัตว์ปีกหลายแห่ง มาทดสอบ โดยตรวจพบสารแบเรียมซัลเฟต หรือที่ชื่อว่า ผงแบไรต์ อยู่ในลำไส้ของไก่ และมีผงแมกนีเซียม 110 มิลลิกรัม ขณะที่ไก่ที่นำมาทดสอบ 1 กิโลกรัม มีแบเรียมปน 1.1 มิลลิกรัม

สำหรับผงแบไรต์ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นโคลนขุดเจาะ(Drilling Mud) ซึ่งใช้ในการสำรวจน้ำมันหรือน้ำบาดาล ใช้ในอุตสาหกรรมทำแม่สี และเนื้อสี อุตสาหกรรมทำแก้ว ทำยาง ผ้าน้ำมัน กระดาษน้ำมัน พรมน้ำมัน เคลือบโลหะ และพลาสติก ตลอดจนเป็นส่วนผสมของยารักษาโรค หรือใช้บดทำน้ำยาในการถ่ายภาพเอกซเรย์ทางการแพทย์ และยังสามารถป้องกันรังสีเอกซเรย์และรังสีแกมมาได้

ถึงแม้ว่า แบเรียมซัลเฟต ซึ่งเป็นสารประกอบไอออนิกที่ใช้ในทางการแพทย์ เมื่อละลายน้ำและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเป็นพิษสูง แต่เนื่องจากสารฯ มีจุดหลอมละลายอยู่ที่ 1,600 องศาเซลเซียส ซึ่งละลายน้ำได้ยากมาก ผู้ที่บริโภคสารดังกล่าว จึงไม่ได้รับอันตรายจากพิษของมัน

ดร. Lo Wing-lok ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ชี้ว่า “ร่างกายของมนุษย์ ดูดซึมสารแบเรียมซัลเฟตได้ยาก และเมื่อสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไม่ช้าก็เร็วจะถูกขับออก อย่างไรก็ตาม สารฯ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงชั่วคราวได้ อาทิ เป็นโรคภูมิแพ้ มีอาการท้องผูก คลื่นไส้ เป็นตะคริว และมีอาการปวดตามข้อต่อหรือกระดูก”
กำลังโหลดความคิดเห็น