xs
xsm
sm
md
lg

จีนกับปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: สิทธิพล เครือรัฐติกาล โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เจียงอี๋ว์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน (ภาพเอเยนซี)
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา ได้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยทางการจีนได้กล่าวหาว่าฟิลิปปินส์นำเรือสำรวจแหล่งน้ำมันเข้ามาแล่นในน่านน้ำของจีนในทะเลจีนใต้ เจียงอวี๋ (姜瑜) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม โดยเน้นย้ำว่าจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ทั้งหมด รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ยุติการกระทำที่จะสร้างปัญหาต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ (The Spratly Islands) หรือหมู่เกาะหนานซา (南沙群岛) ในทะเลจีนใต้เป็นกรณีพิพาทระหว่างจีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลจีนได้อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 เอกสารของทางการจีนระบุว่า ชาวจีนรู้จักหมู่เกาะดังกล่าวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 23 - ค.ศ. 220) และจีนเป็นประเทศแรกที่เข้าไปปกครองหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเป็นกิจจะลักษณะในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279 - ค.ศ. 1368) นอกจากนี้แผนที่ของทางการจีนสมัยราชวงศ์ชิงที่เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1724, ค.ศ. 1755, ค.ศ. 1767, ค.ศ.1810 และ ค.ศ.1817 ล้วนแต่ระบุว่าหมู่เกาะแห่งนี้เป็นของจีน

จีนอ้างด้วยว่าอำนาจอธิปไตยของตนเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศและที่ประชุมระหว่างประเทศ อาทิ สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกเมื่อ ค.ศ. 1951 ที่ประชุมองค์การการบินพลเรือนสากลเมื่อ ค.ศ. 1955 เป็นต้น และจีนก็ได้แสดงออกซึ่งการปกป้องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้อย่างเต็มที่จนถึงขั้นมีการใช้กำลังกับประเทศคู่กรณีมาแล้ว เช่น เวียดนามเมื่อ ค.ศ. 1988 และฟิลิปปินส์เมื่อ ค.ศ. 1995 เป็นต้น

แต่ในเวลาเดียวกัน จีนก็ต้องการบรรยากาศของ “สันติภาพและการพัฒนา” เพื่อเอื้อต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเอง รวมทั้งลดความหวาดระแวงที่ประเทศคู่กรณีมีต่อจีน ด้วยเหตุนี้ในการประชุมอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันลงนามใน ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่จะ “ส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความโปร่งใส สร้างความกลมเกลียว ความเข้าใจ และความร่วมมือซึ่งกันและกัน และอำนวยให้เกิดการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติ”
หมู่เกาะสแปรตลีย์ (The Spratly Islands) หรือหมู่เกาะหนานซา (南沙群岛) ในทะเลจีนใต้ (ภาพเอเยนซี)
แม้จะแสดงออกผ่านปฏิญญาดังกล่าวว่าต้องการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี หากแต่จีนก็ยังคงมีจุดยืนที่แข็งกร้าวและไม่ประนีประนอมในประเด็นเรื่องอธิปไตยอยู่เช่นเคย ดังเช่นเมื่อนายกรัฐมนตรีอับดุลละห์ อะห์มัด บาดาวี (Abdullah Ahmad Badawi) ของมาเลเซียเดินทางไปยังแนวหินโสโครกต้านหวาน (弹丸礁) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2009 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้ออกมาแถลงว่าจีนมี “อำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้” (indisputable sovereignty) เหนือหมู่เกาะแห่งนี้

ในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน จีนได้ตอบโต้เช่นนี้อีกครั้งเมื่อเวียดนามต้องการขยายไหล่ทวีปออกไปเกิน 200 ไมล์ทะเล ข้อเขียนของบรรณาธิการ ประชาชนรายวัน ฉบับออนไลน์ วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ถึงกับระบุว่า “จีนจะไม่ประนีประนอมในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และน่านน้ำต่อเนื่อง ถึงแม้จีนจะยังคงต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม”

คำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองของท่าทีที่จีนมีต่อปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ เพราะในทางหนึ่ง จีนทราบดีว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของการอ้างอำนาจอธิปไตยที่ทับซ้อนกันของหลายประเทศ และจีนได้แสดงออกว่าต้องการแก้ไขปัญหานี้โดยสันติผ่านการเจรจา แต่ในอีกทางหนึ่ง จีนกลับต้องการให้ประเทศคู่กรณียอมรับอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะแห่งนี้โดยไม่โต้แย้ง

ท่าทีอันกำกวมของจีนเช่นนี้ทำให้ประเทศคู่กรณีไม่อาจคลายความกังวลลงไปได้ ดังที่โมฮาเม็ด จาวาร์ ฮัสซัน (Mohamed Jawhar Hassan) ประธานสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (The Institute of Strategic and International Studies) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของมาเลเซียได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Beijing Review เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009 ว่า ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวในความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีนก็คือ ปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในทัศนะของผู้ที่ติดตามประเด็นปัญหาระหว่างประเทศของมาเลเซีย การลงนามในปฏิญญา ค.ศ. 2002 มิได้ช่วยลดความกังวลที่ประเทศคู่กรณีมีต่อจีนแต่อย่างใด

ตราบใดที่จีนยังคงมีจุดยืนในลักษณะเช่นนี้ ตราบนั้นประเทศคู่กรณีก็จะยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของจีนอยู่ต่อไป การที่จีนเน้นย้ำต่อนานาประเทศอยู่เสมอว่าตนเองจะ “ทะยานขึ้นอย่างสันติ” (和平崛起) จึงอาจเป็นแค่เพียง “ถุงมือกำมะหยี่” อันอ่อนนุ่มที่ห่อหุ้ม “หมัดเหล็ก” อันแข็งกร้าวภายในของจีนเอาไว้ก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น