เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์/เอเอฟพี - จีนประกาศมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ โดยห้ามการสูบบุหรี่ภายในอาคาร ซึ่งเลื่อนการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา จะมีผลในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ขณะที่ บรรดานักเคลื่อนไหวควบคุมการสูบบุหรี่ ตั้งข้อกังขาว่า มาตรการดังกล่าวจะมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ดังกล่าวในวันที่ 1พ.ค.2554 แต่ทว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการยอมรับว่า คงต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี คนจึงจะหยุดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
กระทรวงสาธารณสุขจีนได้ประกาศมาตรการห้ามสูบบุหรี่ฯบนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยทบทวนนโยบายการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการเพิ่มมาตรการห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคาร ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ สถานที่ทำงาน บาร์ ขนส่งมวลชน แต่กลับไม่นับรวมการสูบบุหรี่ในสำนักงาน
นอกจากนี้ ยังมีการห้ามติดตั้งเครื่องจำหน่ายบุหรี่แบบหยอดเหรียญในที่สาธารณะ ขณะที่ ผู้ประกอบการของสถานที่สาธารณะแต่ละแห่ง จะต้องเผยแพร่โทษของการสูบบุหรี่และประกาศชี้แจงมาตรการห้ามสูบบุหรี่ พร้อมทั้งจ้างพนักงานมาชักจูงให้คนเลิกสูบบุหรี่
ก่อนหน้านี้ จีนได้เข้าเป็นสมาชิกของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control - FCTC) ขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2548 พร้อมกับให้คำมั่นที่จะออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารในปีนี้(2554) โดยแต่เดิมได้กำหนดเส้นตายการออกมาตรการดังกล่าวในวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซินหวารายงานเมื่อเดือนม.ค.ว่า เหตุที่เลื่อนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการออกกฎหมายระดับรัฐ อีกทั้งบุหรี่มีราคาถูก และการสูบบุหรี่ก็เป็นพฤติกรรมที่เลิกยาก
ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ได้กลายเป็นพฤติกรรมนิสัยที่ฝังรากลึกในสังคมจีน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยจีนมีธรรมเนียมให้บุหรี่เป็นการทักทายกันด้วย แม้แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็ยังสูบ
ข้อมูลสถิติจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ระบุ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศจีนมีมากกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตซึ่งป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ปีละเกือบ 1.2 ล้านคน
รายงานในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ ระบุว่า ภายในปี 2573 จะมีผู้ที่เสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ปีละมากกว่า 3.5 ล้านคน
จากข้อมูลรวบรวมโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ระบุ จีนจัดเป็นผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่สุดของโลก โดยมียอดจำหน่ายบุหรี่ทั่วโลกคิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากสุด