เอสเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี-ขณะนี้ ชาวทิเบตพลัดถิ่น กำลังเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งรัฐบาลพลัดถิ่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์(20 มี.ค.) โดยชาวทิเบตพลัดถิ่นทั่วโลกที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ราว 85,000 คน จะลงคะแนนเสียงที่สถานีเลือกตั้งที่จัดขึ้นในกว่า 13 ประเทศ และคาดว่าผลการนับคะแนนรอบสุดท้ายจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนเม.ย.
การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่ครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจและจับตามองยิ่ง เนื่องจากผู้นำใหม่จะต้องรับศึกหนักในการรับมือคลี่คลายความขัดแย้งกรณีการเรียกร้องอิสรภาพดินแดนทิเบตที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิวสต์จีน เพราะขณะนี้ทะไล ลามะ วัย 75 ปี ซึ่งเป็นผู้จัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอดกว่า 50 ปี ได้ประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่น และจะส่งมอบบทบาทนี้ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ดังนั้น จึงถือว่าการเลือกตั้งฯครั้งนี้เป็นการสรรหาผู้นำการเมืองใหม่ของชาวทิเบตพลัดถิ่นครั้งแรกหลังยุคการปกครองแบบราชาผู้นำศาสนา (religious monarchy) ของทะไล ลามะ
สำหรับตัวเก็งอันดับหนึ่ง ที่คาดว่าจะได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำคนใหม่ คือ ลอบซัง ซังเก (Lobsang Sangay) วัย 43 ปี ผู้ถือกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และไม่เคยไปยังทิเบตบนแดนหลังคาโลก ซังเกสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งตัวเก็งแถวหน้าอีกสองคน ได้แก่ เทนซิน เทธอง(Tenzin Tethong) และ ทาชี วังดี (Tashi Wangdi) ทั้งสองอาวุโสกว่าซังเก และมีประสบการณ์ยาวนานในการรัฐบาล
แม้มีกระแสวิตกกังวลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทะไล ลามะ ก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะของผู้นำจิตวิญญาณ ที่มีบารมีสูงส่ง ซัมดง ริมโปเช (Samdhong Rinpoche) นายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตปัจจุบัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2544 กล่าวว่า การเลือกตั้งทุกครั้งมีความสำคัญ แต่สำหรับครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงการถ่ายโอนอำนาจ ที่ผู้นำคนใหม่จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ทะไล ลามะ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นนั้น มีบทบาทในเชิงพิธีกรรม และหลังจากที่ท่านปลดเกษียณ ก็จะไม่ลงนามในข้อตกลงใดๆอีก ไม่เข้าร่วมรับคำปฏิญาณตัวของคณะรัฐบาล หรือประชุมรัฐสภา สำหรับรายละเอียดการถ่ายโอนอำนาจ ยังไม่มีการระบุประกาศออกมา โดยขณะนี้รัฐสภาพลัดถิ่นได้พยายามทัดทานการเปลี่ยนแปลง แต่ทะไล ลามะ ก็ยืนยันว่าจะต้องมีการเตรียมการเพื่ออนาคต และการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นประชาธิปไตย
ในวันพฤหัสฯ(17 มี.ค.) ทะไล ลามะ ปฏิเสธกลุ่มผู้นำทิเบตที่เรียกร้องให้ท่านมีบทบาททางการเมืองต่อไป โดยกล่าวว่าบทบาทเยี่ยงราชาของท่านนั้นล้าสมัยไปแล้ว และยืนยันให้ยกเลิกอำนาจตามประเพณีที่สืบทอดกันมา 400 ปี “การปกครองโดยผู้นำจิตวิญญาณ การปกครองโดยราชานั้นล้าสมัยแล้ว ฉันไม่ต้องการเป็นเหมือนมูบารัก (ประธาธิบดีผู้ถูกปลดของอียิปต์)” ทะไล ลามะ กล่าวยืนยัน
“หากการลาออกของท่านได้รับการยอมรับ รัฐบาลพลัดถิ่นก็จะกลายรูปแบบเทียบเคียงได้กับ “สาธารณรัฐ” อันเท่ากับว่าประเพณีการเลือกทะไล ลามะ หรือลามะใดๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำชาวทิเบตอย่างเป็นทางการนั้น ได้จบสิ้นลงแล้ว” Robert Barnett ผู้อำนวยการโครงการศึกษาทิเบตสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก กล่าว
โฆษกรัฐบาลทิเบตเผยว่า รัฐบาลจะตัดสินเรื่องการลาออกของทะไล ลามะ ก่อนวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ได้ออกจากทิเบตเมื่อการลุกฮืกต่อต้านอำนาจปกครองจีนของชาวทิเบตล้มเหลวในปี 2502 ท่านได้ลี้ภัยไปยังธรรมศาลา ประเทศอินเดีย จากนั้นก็มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ทะไล ลามะ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นด้วยนั้น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2532 ขณะที่ความขัดแย้งการปกครองเหนือทิเบตระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวอิสรภาพทิเบตและรัฐบาลจีน ยังดำเนินอยู่และเป็นประเด็นร้อนของการเมืองระหว่างประเทศตลอดมา
กลุ่มนักสังเกตการณ์มองว่าการสละอำนาจของทะไล ลามะ เป็นความเสี่ยง แต่ก็จำเป็นต้องมีการเตรียมการสำหรับอนาคตที่ไร้ผู้นำที่ทรงบารมีสูงส่งและอิทธิพลอย่างท่านทะไล ลามะ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวเจรจาเรื่องอำนาจปกครองทิเบตกับจีน ดำเนินอยู่ใน 50 ปีมานี้
สิ่งที่น่าวิตกที่สุดคือ ผู้นำคนใหม่จะมีอำนาจหรืออิทธิพลที่จะผลักดันการเคลื่อนไหวเจรจากับจีน ที่ทะไล ลามะ ได้ประกาศว่าต้องการ “การปกครองตัวเองที่มีความหมายมากขึ้น” สำหรับชาวทิเบตในจีน ไม่ได้ต้องการอิสรภาพ แต่ตลอด 50 ปีของการเจรจาฯ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเลย ผู้นำในปักกิ่งยังประณามทะไล ลามะเป็นกลุ่ม “ลัทธิแบ่งแยกดินแดน” และเป็นผู้ยุเหย่การโจมตีรุนแรงดังเช่นเหตุการณ์จลาจลในลาซา เมื่อปี 2551
นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความวิตกเกี่ยวกับตัวผู้นำคนใหม่ คือผู้สมัครรับการเลือกตั้งทั้งสามคน ยังไม่มีความรู้และประสบการณ์นอกชุมชนทิเบตเล็กๆมากนัก พวกเขาจะต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงในการขึ้นมาเป็นปูชนียบุคคลของโลกแทนที่ทะไล ลามะ
ขณะนี้ตัวเก็งสองคนได้ส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวออกนอก “แนวทางสายกลาง” ที่ทะไล ลามะกำหนดเป็นนโยบายในการเจรจาต่อรองอำนาจปกครองตัวเองกับผู้นำจีน
“ผู้นำใหม่จะต้องฉวยโอกาสในช่วงการเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิม หรือการปฏิวัติดอกมะลิ” ลอบซัง ซังเก ตัวเก็งหมายเลขหนึ่งฯกล่าว
สำหรับตัวเก็งฯอีกคน คือ เทนซิน เทธอง ได้พูดถึงการปรับความยืดหยุ่นใน “แนวทางสายกลาง” และยังกล่าวถึง “การกำหนดอนาคตของตัวเอง” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กลุ่มรากหญ้าวัยหนุ่มสาวมักพูดกันบ่อยๆในการเรียกร้องอิสรภาพทิเบต
ปัญหาอีกประการที่น่าจับตา คือชาวทิเบตในดินแดนทิเบต จะตั้งคำถามกับความชอบด้วยกฎหมายของผู้นำคนใหม่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พวกเขายังคงภักดีแด่ทะไล ลามะ ดังนั้นทะไล ลามะจะต้องยืนยันและโน้มน้าวให้ชาวทิเบตในทิเบตยอมรับการถ่ายโอนอำนาจให้ได้
นอกจากนี้ จุดเลือกตั้งที่อาจประสบอุปสรรคมากที่สุด คือสถานีเลือกตั้งในประเทศเนปาล ซึ่งมีชาวทิเบตพลัดถิ่น 20,000 คน อาศัยอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ในกาฏมาณฑุ อาจได้รับแรงกดดันจากจีน และอาจขัดขวางการลงคะแนนเสียงที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย.
ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งนายกรัฐตรีคนใหม่แห่รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่ธรรมศาลา อินเดีย วันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค. 2554 โดยมีทั้งลามะ และชาวทิเบตพลัดถิ่นทั่วไป มาเลือกตั้งอย่างคึกคัก (ภาพโดย เอเอฟพี)