เอเยนซี - แม้ว่าโลกจะพุ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยีเสต็ลท์ เจ 20 เครื่องบินหลบหลีกเรดาร์ของจีนที่เพิ่งเผยโฉมให้โลกได้ยล แต่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็กำลังง่วนอยู่กับอาวุธบินได้อีกชนิดหนึ่ง มีปีกเหมือนกัน แต่.. มีขนด้วย มันคือ “พิราบสื่อสารผู้ไร้พิษภัย”
ปลายปีที่ผานมา รายงานจากสื่อทางการจีนระบุว่า ศูนย์ฝึกของกองทัพปลดแอกประชาชนในเฉิงตู เริ่มฝึกนกพิราบ 10,000 ตัว เพื่อสร้าง “กองหนุนพิราบ” ขึ้น ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีติดต่อสื่อสารที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง หากสถานการณ์สงครามคับขันเลวร้ายจนเทคโนโลยีสมัยใหม่บอดสนิท พิราบพวกนี้ก็จะปฏิบัติการทันที
เฉิน หง ผู้เชี่ยวชาญทัพฟ้าจีน ให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวีจีนว่า “พิราบกองหนุน” จะนำมาใช้ในปฏิบัติการเฉพาะทางทหารระหว่างกองกำลังที่ปักหลักในแนวชายแดน หรือแนวมหาสมุทรเดียวกันเป็นหลัก
ตามรายงาน นกเหล่านี้จะกระจายไปยังฐานการสื่อสารในแถบภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยหุบเขาสูงชัน ตลอดจนดินแดนห่างไกลอื่น ๆ โดยเฉพาะแถบตีนเขาหิมาลัยด้วย
นกพิราบบินด้วยความเร็ว 120 กม. ต่อชั่วโมง จะถูกฝึกให้สามารถนำสารที่มีน้ำหนัก 100 กรัมติดไปด้วยเวลาบิน
ประวัติศาสตร์จีนใช้ประโยชน์จากนกหลายยุคสมัย “พิราบสื่อสาร” ก็ใช้ในจีนกว่าพันปีแล้ว ที่น่าทึ่งคือนกพิราบถูกฝึกจนสามารถหาฐานที่มั่นทางทหารได้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 แล้ว
ในปี 2480 เรืออากาศโทแคลร์ ลี ชองนัลท์ นักบินปลดเกษียณกองทัพสหรัฐฯ เดินทางมาจีนเพื่อจัดตั้งกลุ่มนักบินที่สนับสนุนอเมริกาในชื่อว่า “กองกำลังพยัคฆ์ติดปีก” เพื่อปฏิบัติการขับไล่ญี่ปุ่นที่รุกรานแผ่นดินใหญ่ เขาได้นำพิราบสื่อสารมาในครั้งนี้ด้วย แต่พอสงครามสิ้นสุด เขาก็ทิ้งนกเหล่านี้ไว้ จนกลุ่มนิกพิราบนี้กลายเป็นกองพลนกพิราบแห่งแรกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
กองทัพจีนทุกวันนี้ นกพิราบจะทำงานร่วมกับสุนัขอีกราว 10,000 ตัว ซึ่งมีหน้าที่ตั้งแต่เฝ้าคลังอาวุธ ช่วยปฏิบัติการของตำรวจ และช่วยในภารกิจของกองกำลังแถบชายแดน สุนัขฝึกใหม่อีก 2,000 ตัวจะบรรจุเพิ่มเข้ามาในหน่วยฯ ทุกปี ขณะที่ม้า ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีความสำคัญ แต่ขณะนี้ตกยุคไปแล้ว เนื่องจากทหารม้าไม่ค่อยมีบทบาทในยุคปัจจุบัน กล่าวกันว่าจีนมีทหารม้าไม่ถึง 1,000 นาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนำไปแสดงในนิทรรศการต่าง ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่กลับมาใช้นกพิราบในการสงคราม ครั้งหนึ่งในการรุกรานนอร์มังดี ระหว่างกองทัพฝ่ายอักษะนาซีเยอรมนีที่ประจำการอยู่ในยุโรปตะวันตก กับกองกำลังสัมพันธมิตรกว่า 3 ล้านนายที่ทำการบุกข้ามช่องแคบอังกฤษมาจากฐานที่ตั้งชั่วคราวในแนวรบที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษนั้น นกพิราบหลายร้อยตัวก็ถูกใช้เพื่อการติดต่อกลับไปยังลอนดอน เพราะทหารสัมพันธมิตรเกรงว่าการส่งสัญญาณทางคลื่นวิทยุจะถูกนาซีดักฟัง นกพิราบตัวแรกที่บินกลับมาลอนดอนพร้อมข่าวนั้น ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสูงสุดทางทหารด้วย
สำหรับประเทศจีน การใช้นกนั้นผิดแผกไปจากเดิมบ้าง เช่น เพื่อการบันเทิง มีการแข่งนกพิราบ การผสมพันธุ์พิราบ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบในบรรดาชนชั้นกลางจีน
เมื่อปลายเดือนม.ค. 2554 ในการประมูลนกพิราบที่เบลเยียม ผู้ประมูลชาวจีนรายหนึ่ง ก็ทุบสถิติราคาประมูลสำหรับนกพิราบแข่งสายพันธุ์เบลเยียม 1 ตัว ถึง 200,000 ดอลลาร์ทีเดียว (ประมาณ 6,100,000 บาท)