เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - อดีตนายพลกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ผู้ถูกจองจำหลังฝ่าฝืนกฎอัยการศึกที่มีคำสั่งให้หน่วยทหารของเขาเข้าร่วมปราบประชาชนในเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 2532 นายพลฯ ลั่นว่า “เขาไม่เสียใจกับการกระทำครั้งนั้น”
หนังสือ “การต่อสู้ทางการเมืองในยุคปฏิรูปของจีน” (Political Struggles in China's Reform Era) ฉบับปรับปรุง เขียนโดยนักข่าวผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ หยัง จีเซิง ระบุว่า “ในเดือนพ.ค. ปี 2532 ท่านนายพลสีว์ ฉินเซียน ผู้บังคับบัญชากองทัพหน่วยที่ 38 ซึ่งถือเป็นหน่วยหน้าและพร้อมรบเต็มที่ ได้ปฏิเสธคำสั่งการด้วยวาจาของนายพลหลี่ ไหลจู้ ซึ่งเป็นรองผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดของปักกิ่ง ไม่ยอมนำกองทหารของเขาเคลื่อนกำลังเข้าเมืองหลวง”
หนังสือดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในเดือนธ.ค. 2553 ระบุอีกว่า “สีว์ ปฏิเสธที่จะสั่งการเคลื่อนพล แม้ว่าเขาจะเห็นคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม”
สีว์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการ เพราะมันไม่เกี่ยวกับทหารเลย ผมยอมตายเสียดีกว่าต้องให้ประวัติศาสตร์มาจารึกว่าผมเป็นผู้ร้าย”
การท้าทายอำนาจของสีว์ ถึงกับทำให้ให้ผู้อาวุโสอย่างเติ้ง เสี่ยวผิงและประธานาธิบดีหยัง ซั่งคุนตะลึงงัน ซึ่งต่อจากนั้นสีว์ก็ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเฉียบพลัน หลังพบว่าเขาเป็นโรคนิ่วในไต ต่อมาเขาก็รับโทษจองจำอีก 5 ปี และถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
“ผมไม่รู้สึกเสียใจเลย สิ่งที่ผมเลือกทำผมได้ตัดสินใจดีแล้ว” หยัง จีเซิง ยกคำกล่าวของสีว์จากการสัมภาษณ์ในช่วงปี 2551-52
“ขณะนั้นสถานการณ์อันตรายมาก และผมพร้อมที่จะเสียสละ โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาอีกต่อไป” สีว์กล่าว
หลังจากสีว์ถูกขับออกจากพรรคฯ หน่วยทหารที่ 38 ของเขาก็ต้องเข้าร่วมปฏิบัติการที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหน่วยหลักในการปราบปรามก็ตาม เหล่าทหารเริ่มยิงเข้าใส่ฝูงชนในคืนวันที่ 3 มิ.ย. สังหารประชาชนจีนไปหลายร้อยหรือหลายพันมิอาจนับได้ คราบเลือดแปดเปื้อนไปทั่วกรุงปักกิ่ง
หยัง เล่าว่า “สีว์ ขณะนี้อายุ 75 ปี แล้ว ก็พำนักอยู่ในค่ายทหารที่เมืองสือจยาจวง และบางทีก็มีข่าวลือว่าเขาเสียชีวิตแล้ว”
ศาสตราจารย์อู๋ กั๋วกวง มหาวิทยาลัยแคนาดาแห่งวิคตอเรีย อดีตทหารผู้ช่วยผู้นำการปฏิวัติเจ้า จื่อหยัง ผู้ถูกขับออกจากพรรคฯ ในข้อหาเห็นอกเห็นใจนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ศาสตราจารย์อู๋กล่าวว่า ความรับผิดชอบของสีว์ในครั้งนั้น ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการทหารของพรรคฯ ไม่อยากลงบันทึกการปราบปรามในประวัติศาสตร์การทหารของจีนให้เป็นจุดด่างพร้อย
ศ.อู๋ชี้ต่อว่า “การไม่ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลก็เห็นว่าการปราบปรามครั้งนั้นผิดกฎหมาย กอปรกับสิ่งที่สีว์ทำลงไป ก็ทำให้ข่าวลือเรื่องที่ว่ามีผู้นำระดับสูงเห็นอกเห็นใจผู้ประท้วงที่เรียกร้องประชาธิปไตยมีน้ำหนักขึ้น” อู๋ชี้ว่ายังมีกองทหารอื่น ๆ ต่อต้านการปราบปราม แม้ไม่รู้ว่ามีกี่มากน้อย
สิ่งที่สีว์ได้ทำนั้นถือว่าได้ยืนยันคำอธิบายของเอกสาร “เดอะ เทียนอันเหมิน เปเปอร์” ซึ่งเป็นเอกสารลับที่สาธยายลำดับเหตุการณ์ทั่วปักกิ่งในช่วงปราบปรามฯ
ศาสตราจารย์ เพอร์รี ลิงค์ บรรณาธิการร่วมของหนังสือ เดอะ เทียนอันเหมิน เปเปอร์ กล่าวว่า เรื่องราวการต่อต้านของสีว์เป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สีว์ได้กล้าทำสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง แม้มีแรงกดดันก็ตาม
“ใครก็ตามที่ได้อยู่ในช่วงเหตุการณ์ปราบปรามที่เทียนอันเหมิน ก็มักจะมีเรื่องราวเศร้าสลดเล่าขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดุจภาพนั้นเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน” ศ.ลิงค์ ทิ้งท้าย