รอยเตอร์/วอลล์สตรีท เจอร์นัล - จีนระบุว่า การทดสอบบินครั้งแรกของ “เจ-20” เครื่องบินขับไล่หลบหลีกเรดาร์ (สเตลต์) ของตนเมื่อวันอังคาร (11) ไม่ควรถูกมองเป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ พร้อมกับย้ำชัดว่าความพยายามในการสร้างแสนยานุภาพทางอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนไม่ได้มีเจตนารมณ์ เพื่อท้าทายความเกรียงไกรของกองทัพพญาอินทรีในย่านแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ กลับมองว่า เจ-20 ของพญามังกรมีขีดความสามารถขนาดยึดครองน่านฟ้าไกลถึงไต้หวันหรือแม้แต่แปซิฟิกได้สบายๆ
ปักกิ่ง ยืนยันว่า ตนได้นำเครื่องต้นแบบของเครื่องบินขับไล่สเตลต์รุ่น “เจียน-20 (J-20)” ออกบินทดสอบครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (11) ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ รอเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เยือนกรุงปักกิ่ง และหารือกับประธานาธิบดี หู จิ่นเทา อย่างไรก็ตาม จีนระบุว่า ทั้งสองเหตุการณ์ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยที่การทดสอบคราวนี้เป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะให้อากาศยานขับไล่ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์รุ่นแรกของจีนลำนี้ขึ้นบินตรงกับวันที่ 11/1/2011 และลงจอด ณ เวลาบ่าย 1.11 น.
“สหรัฐฯ ไม่ควรพิจารณาการทดสอบเครื่องบินสเตลต์ของจีนคราวนี้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการเดินเรือของกองทัพเรืออเมริกันในน่านน้ำฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก” บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ชื่อดังในเครือพีเพิลเดลีของทางการจีน ระบุ “การแข่งขันของกองทัพจีนทั้งในอากาศและภาคพื้นสมุทร หาใช่เป็นการท้าทายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไม่ ในเมื่อการแข่งขันที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในบริเวณหน้าบ้านของจีน”
“ปักกิ่งไม่มีจุดประสงค์ที่จะไปแข่งขันแย่งชิงอำนาจครอบงำของวอชิงตันในภูมิภาคแปซิฟิก สิ่งที่จีนต้องการเร่งด่วนในเวลานี้ก็คือการสร้างงานเพิ่มขึ้นและแก้ไขปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้นัยสำคัญของ “เจ-20” เป็นเพียงแค่ศักยภาพในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัยสำหรับจีน เพื่อที่ว่าจีนจะได้สามารถอุทิศสติปัญญาและพลังงานในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศของเรา” กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนฉบับนี้ว่าไว้อย่างนั้น
ขณะที่พลเรือตรีของจีนผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวไว้ในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของโกลบอลไทมส์ฉบับเดียวกันนี้ระบุว่า กองทัพปลดแอกประชาชน (พีแอลเอ) ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ในสิ่งที่สหรัฐฯ หวาดหวั่นนี้ด้วยซ้ำ และจีนเองก็ไม่มีเจตจำนงที่จะท้าทายดินแดนของสหรัฐฯ ตลอดจนผลประโยชน์ของกองทัพอเมริกาในทั่วทุกหนแห่งของโลก
ลงท้ายนายพลผู้นี้ ยังกล่าวไว้ว่า โลกใบนี้และมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นกว้างใหญ่ไพศาลเพียงพอสำหรับทั้งกองทัพสหรัฐฯ และจีนในการพัฒนาและกระทำการต่างๆ
ทางด้าน กวน อิวเฟย รองผู้อำนวยการกรมวิเทศสัมพันธ์แห่งกระทรวงกลาโหมแดนมังกร แถลงเมื่อวันอังคาร (11) ที่ผ่านมาว่า การพัฒนาอาวุธของจีนไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรง
ทั้งนี้ หลังจากเครื่องต้นแบบของ เจ-20 ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของบริษัทเฉิงตู แอร์คราฟต์ คอร์เปอเรชัน (ซีเอซี) ทดสอบบินครั้งแรกได้อย่างประสบความสำเร็จเมื่อวันอังคาร (11) ทำให้ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายวิเคราะห์ว่า จีนได้ก้าวสู่บันไดขั้นถัดไปในการทดสอบอากาศยานขับไล่รุ่นซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งของเอฟ-22 “แรปเตอร์” ของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากพวกเขามองว่าการทดลองบินที่ผ่านมา จีนได้ทดสอบทั้งระบบสั่งการของซอฟต์แวร์, การทำงานของเครื่องยนต์ในจุดต่างๆ ตลอดจนระบบขับเคลื่อนทางอากาศแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องบินหลายคนระบุว่า พวกเขาสามารถคาดคะเนถึงขีดความสามารถของเจ-20 ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น โดยเฉพาะการไม่อาจวิเคราะห์ถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีล่องหนไปจากจอเรดาห์ของศัตรูของมันได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดด้วยว่า เจ-20 สามารถบินได้สูงหรือไกลเท่าไร เนื่องจากภาพถ่ายหรือภาพวิดีโอส่วนใหญ่ได้มาจากผู้สังเกตการณ์ซึ่งบันทึกจากระยะไกล ทำให้ไม่ได้แง่มุมที่ชัดเจน
แต่กระนั้น บรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการต่างลงความเห็นว่า หากพิจารณาจากรูปร่างและขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ของเจ-20 ทำให้ดูเหมือนว่ามันจะถูกออกแบบมาให้สามารถบินได้ด้วยอัตราความเร็วที่สูงเพียงพอ รวมถึงสามารถบรรทุกเชื้อเพลงและติดตั้งอาวุธหนักได้มากพอที่จะต่อกรกับเอฟ-22 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่สเตลต์รุ่นเดียวในโลกที่มีการนำเข้าประจำการและใช้งานเต็มรูปแบบ ณ เวลานี้
คาร์โล ค็อปป์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์ด้านศักยภาพแห่ง “แอร์ พาวเวอร์ ออสเตรเลีย” และหง หยวน เลขาธิการศูนย์วิจัยควบคุมและจำกัดการเพิ่มขึ้นของอาวุธแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน คาดคะเนว่า เจ-20 น่าจะบินได้ไกลถึง 2,400 กิโลเมตรและบินกลับถึงฐานได้โดยที่ไม่ต้องแวะเติมเชื้อเพลิง ซึ่งศักยภาพดังกล่าวจะทำให้เจ-20 ไม่ประสบปัญหาแม้ว่าจะประจำการบนฐานทัพซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ โดยที่มันจะยังคงยึดครองน่านฟ้าได้ในขอบเขตไกลถึงไต้หวัน, ทะเลจีนใต้และตะวันออก หรือแม้แต่ในแปซิฟิกตะวันตกเลยทีเดียว
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน ระบุว่า จีนจะทำการทดสอบเครื่องต้นแบบของ เจ-20 จำนวน 2 ลำ ที่มีเครื่องยนต์แตกต่างกัน โดยลำหนึ่งน่าจะใช้เครื่องยนต์ “AL-31FN” ของรัสเซีย ขณะที่อีกลำหนึ่งใช้เครื่องยนต์ “WS-10A” ที่จีนพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งในระหว่างกระบวนการทดสอบดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงอะไรอีกหลายครั้งก่อนที่จีนจะนำเข้าสู่สายการผลิตจริงต่อไป นักวิเคราะห์เหล่านี้ยังระบุอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วจีนน่าจะยังคงพึ่งพาเครื่องยนต์ของรัสเซียต่อไปอีกหลายปี ด้วยเหตุที่เครื่องยนต์ซึ่งพัฒนาขึ้นเองนั้นยังไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควรที่จะติดตั้งไว้ในอากาศยานที่จะบินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้แบบยืนระยะเช่นเดียวกับเอฟ-22
ทว่า หากในที่สุดแล้วพญามังกรสามารถนำเจ-20 เข้าประจำการได้จริง และด้วยจำนวนมากถึงหลายร้อยลำแล้ว นั่นจะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งได้ปิดสายการผลิตเอฟ-22 ไปตั้งแต่ปี 2009 และหันไปทุ่มทุนวิจัยและสร้างเอฟ-35 ที่มีขนาดเล็กกว่าและอัตราความเร็วในการบินต่ำกว่าแร็ปเตอร์แทน