เอเยนซี - แสตมป์ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ทุบสถิติราคาประมูลสูงถึง 1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 ล้านบาท) นับเป็นแสตมป์จีนที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์
สื่อจีนรายงาน(2 มี.ค.) ว่า ชุดแสตมป์หายาก 4 ดวง จากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เมื่อปี 2511 มีชื่อชุดว่า “ข้อความแด่สหายกรรมกรชาวญี่ปุ่น” เป็นแสตมป์ภาพตัวอักษรข้อความจากท่านประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นได้คัดค้านการออกแสตมป์ดังกล่าวโดยบอกว่าจะยุเหย่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน รัฐบาลจีนจึงไม่เคยพิมพ์แสตมป์ชุดดังกล่าวนี้อีกเลย
เจฟฟรี ชไนเดอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทประมูลอินเทอร์เซีย เผยถึงข้อความในแสตมป์ว่า “สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2505 กรรมกรชาวญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ประธานเหมา เขียนถึงการเป็นตัวแทนกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ของพวกตน โดยในปี 2511 เหมาได้ตัดสินใจเขียนบทกวีถึงสหายเหล่านั้น โดยมีใจความว่า หากแนวคิดมาร์กซิสสามารถผสมผสานเข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวญี่ปุ่นได้ เมื่อนั้นญี่ปุ่นจักต้องมีชัยแน่”
ชุดแสตมป์ดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ามีเหลืออยู่เพียงชุดเดียวเท่านั้น ได้เคาะขายในราคา 8.97 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 35 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีการประมูลแสตมป์สมัยราชวงศ์ชิง ปี 2440 ในราคา 5.52 ล้านเหรียญฮ่องกง(ราว 21.6 ล้านบาท) และชุดแสตมป์ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมอีกชุด ถูกเคาะขายในราคา 2.53 ล้านเหรียญฮ่องกง(ราว 9.9 ล้านบาท)
สำหรับชุดแสตมป์ “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติวัฒนธรรม” เป็นลายภาพวาดเหมา เจ๋อตง และ หลิน เปียว ผู้นำทางทหารจีน ถูกเคาะขายในราคา 632,500 เหรียญฮ่องกง (ราว 2.5 ล้านบาท) และแสตมป์ “แดงฉานทั่วแผ่นดินจีน” ซึ่งเป็นลายแผนที่ประเทศจีน ที่รวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการประมูลในราคา 690,000 เหรียญฮ่องกง (ราว 2.7 ล้านบาท)
เจฟฟรี เผยว่า “แสตมป์จีนกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก”
การจัดประมูลสินค้าทั้งหมด 3,000 รายการ ในฮ่องกงครั้งนี้ มียอดการประมูลทั้งสิ้นเท่ากับ 98.7 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 387 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ฮ่องกงได้กลายเป็นศูนย์กลางการประมูลขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากมหานครนิวยอร์ก และกรุงลอนดอน เนื่องจากกลุ่มมหาเศรษฐีชาวจีนมีมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักสะสมชาวจีนในตะวันตกที่กลับมายังจีน และเป็นขาประจำห้องประมูลสินค้าต่างๆ ได้แก่ ผลงานศิลปะ เครื่องประดับและไวน์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ฮ่องกงก็เป็นศูนย์กลางการประมูลไวน์แห่งเอเชีย อีกทั้งเป็นประตูสู่ตลาดขนาดใหญ่ของประเทศจีน