xs
xsm
sm
md
lg

กฎฯ ใหม่ “ห้ามใช้อักษรโรมันตั้งชื่ออาคาร เพื่ออนุรักษ์ภาษาจีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดอี่ว์หยวน ในเซี่ยงไฮ้ ขึ้นป้ายเป็นภาษาจีน ตามกฎระเบียบใหม่ของรัฐบาลที่พยายามอนุรักษ์ภาษาจีน โดยสั่งห้ามไม่ให้อาคารห้างร้านต่าง ๆ ขึ้นป้ายเป็นภาษาอังกฤษ (ภาพเอเยนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - การที่จีนพยายามออกกฎฯ ห้ามตั้งชื่ออาคารบ้านเรือน กระทั่งชื่อห้อง ด้วยอักษรโรมัน ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายจีนกำลังแสดงความ “คลั่งวัฒนธรรม” แบบสุดขั้ว

สำนักงานด้านการพิมพ์และเผยแพร่สู่สาธารณะของจีน ซึ่งเป็นสำนักงานเซ็นเซอร์ระดับสูงของจีนได้เสนอกฎฯ การห้ามใช้เป็นอักษรโรมัน หรือคำภาษาอังกฤษ ตลอดจนคำย่อในสื่อทั่วไป โดยให้เหตุผลว่า “ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของภาษาจีนกำลังถูกคุกคาม”

อย่างไรก็ตาม คำและตัวย่อภาษาอังกฤษ อาทิ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) WTO (องค์การการค้าโลก) หรือแม้คำว่า e-mail ชาวจีนก็คุ้นเคยและใช้กันอย่างกว้างขวางในการพูดคุยสาธารณะ

องค์กรด้านการเซ็นเซอร์เล็งเป้าหมายไปที่อาคารเอกชนขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการตั้งชื่ออาคาร เช่น บล็อก A หรือ ห้อง 2 บี เป็นต้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักตรวจสอบคุณภาพของปักกิ่งพยายามปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อเสนอกฎฯ การตั้งชื่อและหมายเลขอาคารผ่านเว็บไซต์ ซึ่งกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ได้ร่างกฎฯ นี้ขึ้นมา มีเนื้อหายืดยาวอธิบายรายละเอียดกระทั่งขนาด สี และรูปแบบของป้ายหรือสัญลักษ์ของตึก หรือแม้กระทั่งวัสดุที่นำมาเขียนป้ายว่าต้องทำมาจากอะไร

กฎฯ ข้อหนึ่งที่สะดุดตาสื่อจีนมากเป็นพิเศษคือ ห้ามใช้ตัวอักษรภาษาต่างประเทศตั้งเป็นชื่ออาคารหรือที่พักอาศัย แต่ที่อนุญาตให้สามารถใช้ได้มีเพียงตัวเลขอารบิกเท่านั้น

นอกจากนั้น หากอาคารใดละเลยเรื่องหมายเลขอาคาร เช่น เขียนเลข 4 หรือ 14 ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า สื่อ (死) ที่แปลว่า ตาย ซึ่งตามความเชื่อของจีนถือว่าอัปมงคล นี่ก็ถือว่าเป็นข้อห้ามตามกฎด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ย้อนแย้งอย่างมากก็คือ เว็บไซต์ได้เชิญชวนให้สาธารณชนส่งความเห็นไปยังสำนักงานผ่านอีเมลล์ โดยใช้ภาษาอังกฤษ แทนที่จะเป็นภาษาจีน ทั้งนี้โทรศัพท์หลายสายกริ๊งกร๊างไปที่สำนักงานเพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับกฎใหม่ (7 ก.พ.) แต่ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
อาคาร Pedder Building ในเซี่ยงไฮ้ ขึ้นป้ายเป็นภาษาอังกฤษ เช่นนี้ถือว่าผิดกฎฯ ใหม่ของรัฐบาลจีนที่กำลังห้ามตั้งชื่ออาคารเป็นอักษรโรมัน เพื่ออนุรักษ์ภาษาจีน (ภาพเอเยนซี)
นักวิเคราะห์เผยว่า ข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างรูปปั้นขงจื่อในจัตุรัสเทียนอันเหมินยืนประจันหน้าท่านประธานเหมา เจ๋อตงอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็บ่งบอกได้ว่าเป็นช่วงที่กระแสคลั่งวัฒนธรรมจีนกำลังพลุ่งพล่านบนแผ่นดินใหญ่ สะท้อนว่าทางการกำลังต่อต้านอิทธิพลจากต่างชาติและไม่ยอมรับความหลากหลายใด ๆ ทั้งสิ้น

หลี่ กงหมิง ศาสตราจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และการวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรม สำนักวิชาการก่วงโจว (กวางเจา) กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามออกกฎเพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนกระแสวัฒนธรรมนั้นมักไม่สำเร็จ การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาอุทิศตนเพื่อสานต่อมรดกทางวัฒนธรรม แม้ว่าจะขัดกับหลักคุณค่าสากลก็ตาม

จู ต้าเค่อ นักวิจารณ์เชิงวัฒนธรรมจากเซี่ยงไฮ้ก็กังวลว่า รัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์นิยมมากขึ้น และกำลังต่อต้านในสิ่งที่รัฐเห็นว่าเป็นอิทธิพลของต่างชาติที่ครอบงำจีน ในช่วงปีนี้ อุดมการณ์ของรัฐบาลดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ เคลื่อนไปสู่วิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมทีละน้อย ๆ และกำลังถอดถอนวัฒนธรรมแบบตะวันตกอย่างเข้มข้น การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นปมด้อยทางวัฒนธรรม และในขณะเดียวกันถือเป็นความเย่อหยิ่งว่า วัฒนธรรมของตนดีกว่า การทำเช่นนี้มีผลลัพธ์อย่างเดียวคือ “ทำให้วัฒนธรรมจีนเสื่อมถอยลงไปในที่สุด”

จัง หลี่ฟาน นักประวัติศาสตร์แห่งปักกิ่ง กล่าวว่า ตัวเลขอารบิก ที่ทางการกล่าวว่าสามารถใช้แทนตัวอักษรโรมมันได้นั้น ก็มีรากมาจากต่างประเทศเช่นกัน นี่ทำให้ชาวบ้านงงว่ารัฐกำลังขัดแย้งในตัวเอง ภาษานั้นเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และมันไม่มีเหตุผลเลยที่จะพยายามต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงตามที่รัฐบาลต้องการ”

ความหวาดกลัวการครอบงำจากภาษาอังกฤษ ไม่เคยลดลงเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สำนักวิชาการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษามีหน้าที่ดูแลการใช้ภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พยายามอย่างหนักที่จะป้องกันการกลืนกลายจากภาษาอังกฤษ กฎหมายที่ออกมาในปี 2537 ทำให้การใช้ภาษาฝรั่งเศสต้องเป็นไปตามกฎของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน การโฆษณาต่าง ๆ ตลอดจนสำนักงานทั่วไป ฯ

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์กล่าวว่า คำสั่งจากรัฐมักจะไม่ได้ผล เพราะป้ายจราจรในปารีสก็ยังคงใช้คำว่า "Stop" แทนที่จะเป็น "Arret"
กำลังโหลดความคิดเห็น