xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตต้องสู้ ชีวิตใต้ดินสุดอึดของ“พวกเผ่าหนู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพแรงงานอพยพเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะถูกเลิกจ้าง - แฟ้มภาพเอเจนซี่
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ชีวิตที่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนทำงาน เพื่อเลี้ยงปากท้องทำให้แรงงาน ที่อพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ปราศจากทางเลือก ทว่าต้องจำยอมทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด

ในกรุงปักกิ่ง นครอันสวยงามเจริญทันสมัย ลึกลงไปใต้ดิน แทบไม่น่าเชื่อว่ามันคือที่อยู่ของแรงงานจำนวนมากมาย ที่อาศัยกันอย่างแออัดยัดเยียด สภาพไม่ผิดอะไรกับพวกหนู ที่อาศัยกันอยู่ยั้วเยี้ย กระทั่งสื่อมวลชนแผ่นดินใหญ่ตั้งฉายาให้แรงงานใต้ดินเหล่านี้ว่า “พวกเผ่าหนู”

ห้องพักเล็กเท่ารูหนูของอี้ว์ หัง หนุ่มวัย 24 ปี อยู่ใต้ถุนตึก ลึกลงไปสองชั้นในย่านทันสมัยแห่งใหม่ ซึ่งตึกรามผุดสูงเสียดฟ้าท่ามกลางอากาศปลอดโปร่ง ในเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง

ห้องคับแคบอุดอู้ ที่เขาอาศัยอยู่กับภรรยานี้ดูอบอุ่นสบาย ทว่าความหนาวสะท้านก็ยังซึมแทรกผ่านลึกลงไปใต้เสื้อคลุมกันหนาว ผ่านใต้ผ้าพันคอ แล้วยังกลิ่นเหม็น ที่โชยมาจากห้องน้ำ ที่ใช้ร่วมกับผู้เช่าคนอื่น

“ถ้าคุณมาอยู่ในสถานที่แบบนี้สัก 7 ปี ก็จะชินไปเองแหละ” อี้ว์จากเมืองเป่าติง, มณฑลเหอเป่ยกล่าว

ปัจจุบันมีแรงงานอพยพค่าแรงต่ำหนุ่มสาวราว 1 ล้านคน หาที่พักพิง ซึ่งเป็นห้องใต้ถุนตึกระหว่างพยายามก่อร่างสร้างตัวในเมืองหลวง

อี้ว์นั้นทำงานเป็นหัวหน้าพ่อครัวย่างบาร์บีคิวที่ภัตตาคารหรู ซึ่งอยู่ห่างจากรังหนูของเขาไปไม่กี่ช่วงตึก

เขายอมพักการเรียนในระดับมัธยมปลายเมื่อ 7 ปีก่อน และเข้ามาหางานทำเป็นพ่อครัวฝึกหัดที่ภัตตาคารแห่งนี้ เมื่อมาถึงครั้งแรกนั้น อี้ว์อาศัยห้องใต้ถุนร่วมกับเพื่อนที่ทำงานอีก 3 คน

ทุกวันนี้ หนุ่มอี้วทำงานวันละ 10 ชั่วโมงครึ่ง สัปดาห์ละ 6 วัน แลกกับเงินค่าจ้างเดือนละ 2,800 หยวน หรือราว 14,000 บาท และยังต้องหักค่าเช่าห้องพักเดือนละ 400 หยวน หรือราว 2,000 บาท

อันที่จริง อี้ว์ อาจหาแฟลต หรือโรงนา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านี้ได้ในแถบชานกรุงปักกิ่งด้วยสนนราคาเช่าเดียวกัน แต่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เพราะเขาเลิกงานดึก และไม่มีรถประจำทางผ่านที่นั่น

“ผมไม่มีเงินมากนักสำหรับเรื่องอื่น อย่างค่าเช่า มันก็แค่ที่พอได้อาศัยนอนเท่านั้น” เขาสรุป

เดิมทีห้องใต้ถุนของอาคารที่พักอาศัยสร้างขึ้นมาสำหรับเป็นที่หลบภัยเมื่อสมัยสงคราม และเริ่มมีการให้เช่ามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งแรงงานอพยพเริ่มหลั่งไหลเข้ามายังเมืองใหญ่

ทว่าชีวิตใต้ดินของแรงงานอพยพเพิ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป เมื่อช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วนี่เอง เมื่อเทศบาลนครปักกิ่งเริ่มกวาดล้างธุรกิจเช่าห้องใต้ถุน เพื่อควบคุมจำนวนประชากร ที่ขยายตัวมากขึ้นทุกทีในเมืองหลวง

หลิว ไค เจ้าของกิจการให้เช่าห้องใต้ถุนจำนวน 96 ห้องในเขตเฉาหยาง กรุงปักกิ่งรายหนึ่งระบุว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของเขาเป็นพวกแรงงานในภาคบริการ หรือร้านอาหาร ทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นพ่อค้าเร่ โดยจำนวนถึง 1 ใน 5 อาศัยห้องใต้ถุนมาไม่น้อยกว่า 6 ปีแล้ว

หลิวกับภรรยาและลูกสาวเองก็อาศัยในห้องใต้ดิน ซึ่งตามปกติแล้ว มีเครื่องระบายอากาศ และเครื่องทำความร้อนกลาง แต่ลูกค้าของเขาลงมติไม่เอาเครื่องทำความร้อน เพราะต้องเสียเงินเพิ่มอีกเดือนละ 100 หยวน หรือราว 500 บาท

แม้จะยอมรับความจริงว่า สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ไม่ผิดกับพวกหนู แต่หลิวก็เห็นว่า ฉายา “พวกเผ่าหนู” ที่สื่อมวลชนตั้งให้นั้น เป็นคำดูถูก เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่มีใครอยากอยู่อาศัยอย่างนั้นหรอก

ฉุย หลี่ชวน อาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วัย 25 ปี เล่าว่า พอถึงหน้าร้อน ห้องใต้ดิน ที่เขาอาศัยร่วมกับเพื่อนที่ทำงานอีก 3 คนทั้งร้อนทั้งอบอ้าว

ฉุยได้รับเงินเดือน 1,200 หยวน หรือราว 6,000 บาท ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งหมดไปกับค่าอาหาร แต่เขาไม่อยากกลับบ้าน

“ผมไม่ค่อยรู้เรื่องทำนาทำไร่นักหรอก แต่คนทำนาทำไร่มีรายได้น้อยแค่ไหน คุณไม่รู้หรอกรึ” หนุ่มยามย้อนถาม
กำลังโหลดความคิดเห็น